ข่าวที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ จีเอสพี กับสินค้าไทยเพิ่มอีก 231 รายการ มูลค่าราว 18,000 ล้านบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เพราะไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง แรคโตพานมีนตกค้างจากสหรัฐอเมริกา
อันเป็นที่ทราบดีว่า สหรัฐอเมริกานั้น มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูกันเป็นปกติ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพ อาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ของไทย ที่ห้ามไม่ให้ใช้สารเหล่านี้ เพราะหากได้รับสารในปริมาณมาก จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้มีการขยายตัวของหลอดลม หลอดเลือด มีผลทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนและปวดศีรษะ จึงต้องระมัดระวังการใช้สารนี้ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ, โรคลมชัก, โรคเบาหวาน และสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารในกลุ่มนี้ บางชนิดก่อให้เกิดเนื้องอกและมะเร็งด้วย
ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวยืนยันว่า ไทยไม่มีนโยบายเปิดตลาดนำเข้าสินค้าดังกล่าว เพราะต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนในประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศ ที่มีจำนวนมากด้วย
นายจุรินทร์ ยังให้ความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายไทยติดตามเรื่องมาโดยตลอด และทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรองรับผลกระทบมาแล้ว ไม่อยากให้กังวลกับเรื่องนี้มากนัก เพราะได้หาลู่ทางให้กับสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ ให้สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง ที่ยังคงได้รับสิทธิจากสหรัฐฯอยู่ ภาคเอกชนก็พูดแล้วว่าไม่กังวลกับการถูกตัดจีเอสพี เพราะสินค้าไทยแข่งขันด้านราคาได้ เพราะมีคุณภาพดี มีความน่าเชื่อถือ แม้ถูกตัดจีเอสพี ทำให้สินค้าไทยต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติที่ 3-4% คิดเป็นภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม 600 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาตลาดใหม่รองรับสินค้ากลุ่มนี้ด้วย
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ซึ่ง ไทย-สหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม 48,630.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยยังสามารถส่งสินค้าออกไปขายในตลาดสหรัฐได้ปกติ เพียงแต่ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ซึ่งสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP จำนวน 231 รายการนั้น ไทยใช้สิทธิจริงในปี 2562 เพียง 147 รายการ มีการประเมินภาษีที่ไทยต้องเสียอยู่ที่ 600 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์บางชนิด ซึ่งเป็นสินค้าของไทยที่มีศักยภาพการส่งออกทั้งตลาดสหรัฐ ตลาดยุโรปและเอเชีย
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เคยให้ข้อสังเกตว่า GSP ของสหรัฐนั้น เป็นการให้จากสหรัฐเพียงฝ่ายเดียวกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดแล้ว ซึ่งวันหนึ่งอาจจะต้องหมดไป เพราะไทยสามารถเติบโตและพัฒนาสูงขึ้นจนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางตามการรายงานของธนาคารโลก ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เน้นการเติบโตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาการเกษตร BCG สนับสนุนการจดทะเบียนสินค้าเกษตร GI ของไทย เพื่อปรับโหมดสินค้าไทย เพิ่มมูลค่าแต่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกด้วย
เราเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือการแข่งขัน โดยไร้สิทธิประโยชน์ในวันใดวันหนึ่ง ที่ต้องเลิกยืมจมูกของผู้อื่นหายใจ