คอลัมน์ เกาะติดวิกฤติไฟใต้ ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ จากหมายที่นั่งริมฟุตบาท ผู้เขียนทอดสายตายาวไปยังสุดขอบฟ้า เรากำลังรอช่างมาซ่อมรถยนต์ของเพื่อนหนุ่มที่เดินทางไกลมาจากเบตง–ยะลา ด้วยความตั้งใจมาร่วมงาน Freedom Festival 2017 เทศกาลดนตรีเพื่อศิลปะและเสรีภาพ ณ ชุมชนเกาะยาว อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ความจริงแล้วเราเพิ่งแยกทางกันได้สักพัก คล้อยหลังไม่นานต่อมา เพื่อนหนุ่มก็โทรศัพท์มาส่งข่าวว่ารถยนต์มีปัญหาไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ ต้องจอดสงบนิ่งอยู่บริเวณเกือบยอดเขาบูโด ตามเส้นทางนราธิวาส-ยะลา ผ่านเส้นทาง ยี่งอ-ปาลอบาต๊ะ-ตะปอเยาะ-รือเสาะ-ทือกเขายือลาแป-ตะโล๊ะหะรอ-รามัน-ยะลา จึงรีบต่อสายโทรศัพท์คุยกับเครือข่ายให้ช่วยหาช่างซ่อม พร้อมกับวนเวียนหาร้านซ่อมเครื่องยนต์ในตัวเมืองนราธิวาสอยู่พักใหญ่ ปรากฏว่าร้านรวงส่วนใหญ่ปิดเนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ จึงตัดสินใจเดินทางมุ่งตรงไปยังจุดเกิดเหตุทันที อย่างน้อยก็เพื่อไปคอยเป็นเพื่อนรัก คอยให้กำลังใจ และดูแลหัวใจกัน ในพื้นที่เปลี่ยนบนเทือกเขาบูโด ตอนที่ผู้เขียนกับน้องๆ ทีมงานเฌอบูโด เดินทางไปถึง เราเห็นวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งรวม 5-6 คนกำลังยืนสุมหัวกันอยู่ริมถนนด้วยท่าทีไม่ไว้วางใจนัก แต่ผู้เขียนตัดสินใจเดินตรงรี่เข้าไปหา พร้อมกับส่งรอยยิ้มเป็นใบเบิกทาง เอ่ยถามถึงร้านซ่อมรถยนต์ในบริเวณใกล้เคียง “การิม” จึงอาสาพานั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ของตนเองวิ่งลงเขา มุ่งตรงไปหาช่างยนต์ ก่อนจะไต่เข่าสูงชันมาส่ง ณ ที่เดิม และต่อมายังคอยถามไถ่ ดูแล และซื้อน้ำมาให้ดื่มแก้กระหาย ในพื้นที่ที่แตกต่าง เชื่อว่า จะมีก็แต่การน้อมนบให้เกียรติ การมอบน้ำจิตน้ำใจที่แท้จริงให้แก่กัน หาใช่ความเกลียดชังดูหมิ่นดูแคลน ความมีอคติ มองว่าตนเองเหนือกว่า หรือมองภารกิจของตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่อินังขังขอบกับหัวใจของผู้คนหรือชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อารมณ์บั่นทอนความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่น สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน จากน้ำใจมากล้นที่ได้รับจากคนแปลกหน้าในยามเผชิญเหตุการณ์วิกฤติระหว่างรอช่างซ่อมแก้ไขเครื่องยนต์ ทำให้หวนคิดถึงผลการดำเนินงานของ Freedom Festival 2017 ที่เพิ่งเสร็จสิ้น โดยมีผู้สนับสนุนงานหลักในครั้งนี้ คือ มูลนิธิฟรีดิช เนามัน ร่วมกับนิตยสาร happennig กลุ่มเฌอบูโด สมาคมศิลปวัฒนธรรมป่านวงเดือน ชุมชนเกาะยาว-ตากใบ ฯลฯ ที่อวลไปด้วยหลากหลายอารมณ์ ทั้งยินดีหรืออาจระคนผิดหวังสำหรับใครบางคน ทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำตา และการพบพานและพรากจาก ในงาน Freedom Festival 2017 กลายเป็นกิจกรรมที่รวบรวมนักกิจกรรมทางสังคม ศิลปิน นักเขียน นักเดินทาง ชาวบ้านในพื้นที่ ฯลฯ จากทั่วทุกสารทิศ ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ได้มาสัมผัสนิทรรศการศิลปะทั้งภาพวาดและภาพถ่าย การอ่านบทกวี โดย ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ ชาวอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส จากหนังสือรวมบทกวี “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ตุล ไวฑูรเกียรติ (ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า) จิตติมา ผลเสวก สาธิต รักษาศรี การบรรเลงดนตรีโดยศิลปินจากส่วนกลาง ประกอบด้วย ปอย พอร์ตเทรต (Portrait), ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า หนึ่ง สลีปเปอร์วัน (หนึ่ง ฟรายเดย์) และ ท็อป ผ้าขาวม้า ส่วนศิลปินจากพื้นที่ มีวงดนตรีคนบ้านเรา วงสันติชน และวงเปอร์มูดออัสลี บรรเลงบทเพลงพื้นเมืองมลายูโบราณ รวมถึงการแสดงทางวัฒนธรรมชายแดนใต้ เช่น กลุ่มปันจักสีลัตพงลีแป คณะมโนราห์เยื้อนน้อยเจริญศิลป์สุไหงปาดี ดิเกร์ฮูลูชื่อดัง Seluling Kasih จากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อ “เสรีภาพกับคนรุ่นใหม่” โดย ตุล ไวฑูรเกียรติ, ซะการีย์ยา อมตยา, อัสรี จะมะดี, อาแอแสะ ยูโซ๊ะ และเสวนาเรื่องการประกวดแต่งเพลง หัวข้อ “เสรีภาพ เสรีเพลง : สังคมพหุวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย” นำโดย วิภว์ บูรพาเดชะ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อถึงเรื่อง “เสรีภาพ” ให้ผู้ร่วมงานได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิ์และเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ได้นำผลงานมาร่วมจัดแสดง มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ประการสำคัญ คือการกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวบนเกาะยาวและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามมีเอกลักษณ์โดดเด่น สะท้อนลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมระหว่างพุทธ-มุสลิม รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานศิลปะแขนต่างๆ และการเปิดรับบริจาคหนังสือเพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง “ห้องสมุดหัวใจเดียวกัน” ซึ่งประสบผลสำเร็จค่อนข้างน่าพอใจ เพราะมีผู้ศรัทธาบริจาคทั้งหนังสือและปัจจัยให้แก่ชุมชนในจำนวนมากพอควร ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ใช้เวลาจากบ่าย 3 โมงกว่าขณะฟ้ากระจ่าง กระทั่งความมืดคลี่ม่านห่มคลุมทัศนวิสัยโดยรอบ ในที่สุด เราต้องใช้บริการรถยกเพื่อลากรถที่เสีย ไปจังหวัดยะลา เพราะเพื่อนหนุ่ม ปลัดอารี หนูชูสุข ปลัด อบต.อัยเยอร์เวง ผู้จับมือชุมชนปลุกปั้นกระแสหมอกอัยเยอร์เวงจนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ มีภารกิจอยู่ที่นั่น และในค่ำคืนดึกดื่น ณ จุดเกิดเหตุเดียวกับที่เคยมีเหตุรุนแรงจนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตพร้อมกันทีเดียวหลายชีวิต ย่อมทำให้ใครหลายคนเกิดอาการเสียวสันหลังได้ แม้จะมีคำปลอบใจจากคนรอบข้างก็ตามที ผ่านไป 5 ชั่วโมงกว่า เราต่างเดินทางสู่เป้าหมาย หากทว่าเป็นคนละทิศ เพื่อนหนุ่มมุ่งตรงไปยะลา พร้อมกับพรรคพวกที่ตั้งใจเดินทางมาให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะ ส่วนผู้เขียนและน้องๆ เฌอบูโด มุ่งสู่เมืองนราธิวาส เพื่อสุมหัววางแผนงานต่อในการดูแลประสานงานภารกิจของ “เกริ่น เขียนชื่น” ที่เริ่มภารกิจแล่นเรือใบกอและ “จากบางนราสู่เจ้าพระยา” แล้วอย่างอบอุ่นด้วยมิตรมากมายที่มาให้กำลังใจ ตอนที่รถค่อยๆ ไต่ลงตามเส้นทางที่สูงชันและคดโค้ง ผู้เขียนจดจ้องสายตาไปที่เส้นขอบฟ้าอีกครั้งหนึ่ง แม้รอบข้างจะมืดมิด แต่แสงไฟ แสงจันทร์ และแสนดาว ก็ทำให้อุ่นใจได้ว่า เป้าหมายของพวกเรามิได้มืดมนเกินไปนักในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบหรือในพื้นที่ที่มักถูกนำเสนอข่าวสารแต่ใน “ด้านลบ” “เกริ่น เขียนชื่น” กำลังเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญของชีวิตไปกับเรือใบกอและ “ยีวอ ยัง ซามอ – หัวใจเดียวกัน” ผ่านะเวลาแรมเดือน เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศ “เสรีภาพ” เป็นสื่อกลางนำเรื่องเล่าดีๆ จากชายแดนใต้ เรื่องเล่ารายทางของชุมชนประมงพื้นบ้าน และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ไปบอกเล่าให้ผู้คนในใจกลางมหานครได้รับรู้ ขณะที่ มูลนิธิฟรีดิช เนามัน และนิตยสาร happening มีแผนจัดงาน Freedom Festival 2017 เทศกาลดนตรีเพื่อศิลปะและเสรีภาพ รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ผ่านไปแล้วคือ ณ ชุมชนเกาะยาว อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และครั้งที่ 2 ณ ที่โครงการช่างชุ่ย กรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนกันยายน การนำวิถีคนทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ให้มีโอกาสโคจรมาพบกันในงาน Freedom Festival 2017 เทศกาลดนตรีและศิลปะเพื่อเสรีภาพ นับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเป็นงานที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นร้อยรัดชีวิต ความสัมพันธ์ และเรื่องราวดีๆ ของผู้คน “จากบางนราสู่เจ้าพระยา” และ “จากเจ้าพระยา” จะหวนคืนสู่ “บางนรา-นราธิวาส” อีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะเป็นรูปลักษณ์ใด ความรู้สึกเช่นใด คงเป็นเรื่องของ “ชะตาฟ้าลิขิต” เพราะความมุ่งมั่นพยายามเป็นของมนุษย์ แต่ชะตาย่อมเป็นของฟ้า