ในห้วงที่สถานการณ์การเมืองไม่น่าไว้วางใจ มีความเห็นของบุคคลในแวดวงที่สดับรับฟังไปในทิศทางเดียวกันต่างกรรมต่างวาระ โดยไม่ได้นัดหมาย หนึ่งคือ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ตั้งแต่มีการชุมนุม 14 ต.ค.16 ถึง 22 พ.ค. 57 เป็นต้นมา ผู้ชุมนุมไม่เคยชนะได้ด้วยตัวของผู้ชุมนุมเอง และผู้มีอำนาจแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่เคยอยู่ได้สักคน ในที่สุดก็จะต้องมีเหตุมีปัจจัยทำให้การชุมนุมยุติลงและผู้นำก็พ่ายแพ้ ไม่มีใครยืนหยัดอยู่ได้ “เมื่อมีการชุมนุมก็ต้องกระเด็นกระดอนไปคนละทิศคนละทาง ทั้งจากรัฐประหารหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสื้อแดงชุมนุมประท้วงก็ยุบสภา หยุดการเผชิญหน้า ต่อมายิ่งลักษณ์ ชุมนุมโดย กปปส.สู้กันมา 6 เดือน สุดท้ายก็ไม่มีใครชนะ เกิดรัฐประหารโดย คสช.” อีกหนึ่งคือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ระบุว่าการชุมนุมประท้วงในเมืองไทย ตามประวัติศาสตร์ ผู้ชุมนุมไม่เคยชนะรัฐบาลนะครับ ทหารต้องออกมาแทรกแซงในตอนสุดท้ายทุกครั้ง ก่อนหน้านี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ชิงออกมาจุดประเด็นเรื่องของรัฐประหารว่าเป็นทางออกของสถานการณ์ โดยเสนอรูปแบบให้กองทัพทำรัฐประหารแล้ว ถวายคืนพระราชอำนาจให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำไปสู่การตั้ง"รัฐบาลแห่งชาติ" อย่างไรก็ตาม อีกทางออกหนึ่ง คือความพยายามตั้งไข่คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นหัวเรือใหญ่ก็ถูกขับเน้นให้อยู่ในแสงสปอตไลต์ ตามโมเดลที่ได้หารือกับสถาบันพระปกเกล้า ตั้งแท่นขึ้นมามี 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบที่ 1 คือ มีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เช่น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภาและตัวแทนองค์กรอื่นๆ รูปแบบที่ 2 คือมีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ นายชวน มองว่า รูปแบบที่ 1 มีจุดอ่อนคือ หากฝ่ายใดปฏิเสธไม่เข้าร่วม องค์ประชุมก็จะไม่ครบ หรือหากคุยกันไม่รู้เรื่องก็จะไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะเสร็จเร็ว รวมทั้งถ้ามองผิวเผินจะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ถือว่าน่ากังวล ขณะที่รูปแบบที่ 2 นั้น ไม่แน่ใจว่ากรรมการที่ไปทาบทามจะรับหรือไม่ เพราะด้วยเป้าหมายของงาน ต้องดูปัญหาที่เขาจะเข้ามาพิจารณานั้นคือเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม นายชวน ยอมรับว่า ส่วนตัวได้ประสานอดีตผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่พร้อมจะร่วมด้วยถ้ามีโอกาส ซึ่งอดีต นายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ที่ได้พูดคุยต่างเป็นห่วงบ้านเมืองและพร้อมให้ความเห็นว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองพร้อมจะร่วมมือ ในส่วนตัวแทนของผู้ชุมนุม นายชวนได้ให้ทางเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปประสาน พร้อมเห็นว่าหากเข้าร่วมด้วยจะเป็นประโยชน์มาก อย่างไรก็ตาม หากปัญหาความขัดแย้ง สามารถยุติลงได้บนโต๊ะเจรจา ก็จะเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชน อย่าให้การเมืองไทยจบลงแบบหนังม้วนเดิม