ชื่อของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาอยู่ในแสงสปอตไลต์ทางการเมืองอีกครั้ง ภายหลังมีข่าวว่าเขาแสดงความเห็นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในงานเสวนาแห่งหนึ่ง สะกิดให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ถือเป็นสิทธิ์
ทำให้มีปฏิบัติการโจมตีนายอานันท์ออกมาจากฝั่งที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยก่อนหน้านี้มีการเสนอชื่อนายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง อีกทั้งมีภาพนายอานันท์ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในงานวันเกิด
กระนั้น ในการเสวนา หัวข้อ “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงและความงามได้อย่างไร” ในเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 มีผู้ถอดความเนื้อหาโดยละเอียดไว้ จะขอนำความที่น่าสนใจบางช่วงบางตอนมานำเสนอดังนี้
“อยากตั้งข้อสังเกตก็คือว่า การเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ หากจะทำทุกอย่างตามอำเภอใจของเรา คุณจะไม่ประสบผลสำเร็จ ในฐานะที่ผมอยู่ด้านการเมืองมา 2 ปีครึ่ง ไม่ได้เข้าไปอยู่เพราะใจชอบหรือใจรัก แต่เข้าไปเพราะต้องไปทำงานด้านการเมือง ประสบการณ์บอกผมอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะหวังว่าให้สำเร็จในสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องคำนึงเสมอว่า เราทำคนเดียวไม่ได้ รัฐบาลนี้ทำได้เพราะมีอำนาจทางทหาร มีอำนาจทางสภา แต่ผมเข้าไปไม่มีอำนาจสักอย่าง ผมต้องหาอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร หากเราคิดว่าสิ่งที่เป็นของสำเร็จรูปทำใส่กล่องอย่างดีไปให้ประชาชน อันนี้ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เรียกว่าไปกำหนดไปบังคับให้ประชาชนรับสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด แต่ประชาชนจะไม่มี ส่วนเกี่ยวข้อง เขารับไปแต่จะไม่รู้จักคุณค่าดังนั้น เราตั้งระเบียบวาระของเราจะมี 8 ข้อ 10 ข้ออะไรก็ตาม แต่เราทำตามอำเภอใจไม่ได้ เราต้องเลือกประเด็นปัญหาที่มีความเร่งด่วน แต่ถ้าบอกว่ามี 8 เรื่อง 10 เรื่อง ไม่บอกว่าจะทำที่ไหนก่อน ทุกอันที่ยกประเด็นขึ้นมาหากไม่สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน โอกาสที่จะสำเร็จจะน้อยมาก อันนี้ไม่ใช่เรื่องของผิดถูก อย่าไปคิดว่าระบอบประชาธิปไตย มันจะต้องถูกเสมอไป เพราะผิดหรือถูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสาระอย่างเดียว แต่ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับกาลเทศะด้วย
ฉะนั้นคนที่จะทำอะไรต้องวางยุทธศาสตร์ วางแผนงานให้ดี ยุทธศาสตร์ที่ผมบอกก็คือ ต้องพยายามเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับความคิดกับประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าเลือกประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่ อันนั้นยิ่งเสร็จใหญ่เลย อย่าดูถูกประชาชน เขาจะถูกหรือผิดอย่างไร เป็นความคิดของเขา ฉันใดฉันนั้น เราไม่ดูถูกความคิดเด็กรุ่นใหม่ ไม่ดูถูกความคิดของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ เพราะการจะคบกัน การอยู่ร่วมกันต่อไปในผืนแผ่นดินไทย ต้องเปิดใจกว้าง ไม่ใช่ว่าต้องเห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจกันและกัน
การใช้ภาษาก็สำคัญ วิธีเขียนประเด็นสำคัญมาก หากเริ่มต้นเขียนเชิงลบก็บาดหมางน้ำใจกันแล้ว มันมีวิธีเขียนครับ เขียนออกมาเป็นเชิงบวก อย่าไปเขียนออกมาแล้วคนด่าทันที มันต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน และต้องเข้าใจเหตุผลของความแตกต่างกันสังคมไทยจะผิดจะถูกอย่างไรผมไม่รู้ สังคมไทยที่บอกว่า สังคมอนุรักษ์นิยม สังคมไทยยังเคารพเรื่องประเพณี เรื่องคุณค่า เก่าๆ แล้วถามว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะเขาก็มี แต่เขามีคำถาม เพราะหลายสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว...”
ส่วนในประเด็นที่ถูกนำมาเป็นพาดหัวข่าว เกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์นั้น นายอานันท์ กล่าวไว้ดังนี้
“เรื่องหนึ่งที่ผมว่าจะเป็นปัญหา แต่ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำนะ แต่เด็กยืนยันว่าท่านนายกรัฐมนตรีเป็นตัวปัญหานะ คนรุ่นใหม่เขามองว่า นายกรัฐมนตรีเป็น คนเดียวที่สามารถปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีใดผมไม่รู้ ท่านจะไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไรเพราะเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ท่านต้องรู้นะ ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น แล้วถ้าจะเถียงกับคนรุ่นใหม่ อ้างปัญหากฎหมาย อ้างกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน เพราะเด็กมองว่ามันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เห็นด้วยทุกอย่างนะ แต่พยายามเข้าใจ เหมือนอย่างผมพยายามทำความเข้าใจสถานะของท่านนายกรัฐมนตรี หรือสถานะของรัฐบาลเหมือนกัน แต่ถ้ามันไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน
ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้งสองฝ่าย มันมีมากกว่าสองฝ่ายหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่เริ่มต้นสมมุติฐานก็ผิดกันแล้ว เด็กเริ่มต้นจาก 7 ปีที่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นบอกว่าทำอะไรผิด พูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล รัฐบาลตอนนี้ พูดภาษาแอนะล็อก สงครามต่อสู้กันคนละสนาม ไม่เคยเจอกัน แล้วพูดคนละประเด็น ผมถึงบอกว่าในสังคมโลกเขาพูดกันเลยว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีความยุติธรรม”
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การสื่อสารในสังคมไทย กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปสู่การตีความและบิดเบือน จนนำไปสู่ความขัดแย้งได้อย่างง่ายดาย