การเริ่มต้นนับหนึ่งโดยกลไกรัฐสภา เพื่อหาทางแก้ไข คลี่คลายวิกฤติทางการเมือง จะเป็นรูปเป็นร่างหรือไม่ ยังกลายเป็นประเด็นที่ต่างฝ่าย ต่างลุ้นกันไม่น้อย เพราะทำไปทำมากลับไม่ใช่เรื่องง่ายดายเสียแล้ว !
เมื่อเกิดอาการ "งัดข้อ" กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อต่างเกิดความระแวงว่าที่สุดแล้วการตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์" ที่มี "ชวน หลีกภัย"ประธานสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะประธานรัฐสภา จะกลายเป็นการวางกับดัก ล่อให้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกคนกันเอง "บีบให้ลาออก"หรือต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเรียกร้องของ "ม็อบคณะราษฎร" ที่มีเยาวชน คนรุ่นใหม่ เคลื่อนไหวชุมนุมจี้ให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่ ชวน ประธานรัฐสภา เดินหน้าประสานกับ "อดีตนายกฯ" ด้วยกันถึง 4 คน ทั้ง อานันท์ ปันยารชุน ,พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ , อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพื่อให้มาเข้าร่วมนั่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยล่าสุดยังไม่สามารถติดสมชาย ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
แต่ดูเหมือนว่าขณะที่ชวน เดินหน้าทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นรูปธรรมอยู่นั้น พลันเกิดปฏิกริยา "ต้าน" จากคนของพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และมือกฎหมายของพรรค และ "สิระ เจนจาคะ" ส.ส.กทม. ออกโรงประกาศตัวชน กับชวน อย่างชัดเจน
"ส่วนตัวเชื่อว่า คณะกรรมการฯชุดนี้ ไม่สามารถหาทางออกได้ เพราะดูจากหน้าตาอดีตนายกรัฐมนตรีที่ประธานรัฐสภาจะเทียบเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการฯ นั้น เชื่อว่า แต่ละคนมีความฝักใฝ่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะให้คณะกรรมการฯชุดนี้ เป็นเครื่องมือบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือไม่ รวมถึงการปฏิรูปสถาบัน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 ตามข้อเรียกร้อง ตนจะดำเนินการฟ้องคณะกรรมการฯทั้งหมด"ไพบูลย์ ระบุ
เช่นเดียวกับท่าทีของสิระ เองออกมาส่งสัญญาณไปถึงชวน ว่าอย่าคิดและตัดสินใจอยู่คนเดียวมิหนำซ้ำยังไปดึงอดีตนายกฯที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็นอภิสิทธิ์ ที่ประกาศลาออกจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่ต้องการยกมือโหวตหนุนพล.อ.ประยุทธ์ ในสภาฯ ขณะที่อานันท์ เองก็เพิ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อชวน โดนกระหน่ำจากคนของพรรคพลังประชารัฐ เพียงข้ามวันแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ต่างดาหน้าออกมาตอบโต้สิระ ทันควัน
การเริ่มต้นนับหนึ่งของการมีคณะกรรมการสมานฉันท์ กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ ทั้งการที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย แม้ล่าสุดจะกลับลำ ขอเข้าร่วม แต่กลับมีการวาง "เงื่อนไข" ขณะที่ ตัวแปรสำคัญคือกลุ่มเยาวชนที่ชุมนุมเคลื่อนไหว ล่าสุดได้ "กลุ่มราษฎร" แถลงข่าวประกาศออกมาแล้วว่า ไม่ยอมรับคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์ เพราะมองว่าไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ดังนั้นจึงย้ำจุดยืนเดิม3ข้อ คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
หมายความว่านาทีนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์ ได้กลายเป็น ปัญหาใหม่ที่ปลุกเอาความขัดแย้ง ความหวาดระแวงระหว่าง "พรรคร่วมรัฐบาล"ให้เกิดขึ้น เมื่อคนของพรรคพลังประชารัฐ กำลังวิตกว่านี่คือการไล่ต้อนพล.อ.ประยุทธ์ ให้เข้าสู่มุมอับหรือไม่ เพราะหากคณะกรรมการฯชุดนี้มีมติให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ รัฐบาลจะไปต่อได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังกลายเป็นว่า "กลุ่มม็อบเยาวชน" จะไม่มีการส่งตัวแทนเข้าร่วม เพราะมองแล้วว่าไม่มีประโยชน์อื่นใด นอกเสียจากเป็นเกมของ "ผู้ใหญ่" ที่ต้องการ "ยื้อยุด" ซื้อเวลาให้ยืดเยื้อออกไป รอให้ผู้ชุมนุมอ่อนแรง ลงไปเองเท่านั้น !