ท่ามกลางสัญญาณร้ายๆ และบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ก็มีข่าวดีเกิดขึ้นสำหรับประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ที่จัดอันดับ Doing Business 2020 ของไทย อยู่ที่อันดับ 21 จาก 190 ประเทศ เป็นการปรับตัวดีขึ้นถึง 6 อันดับ และเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ปี 2562 สัดส่วนคนจนลดลงเหลือ 6.24% หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน จากปีก่อนหน้ามีสัดส่วนคนจน 9.85% หรือจำนวน 6.7 ล้านคน การลดลงของคนยากจนเกิดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาท/คน/เดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาท/คน/เดือน หรือ เพิ่มขึ้น 2.42% ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาท/คน/เดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาท/คน/เดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 6.81% ซึ่งการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 6.5% ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564 อีกด้วย สะท้อนถึงการประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน และการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของภาครัฐ
สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจน ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรค โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน
สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และทุกภูมิภาค ปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี 0.24% รองลงมาคือ ปทุมธานี 0.24% ภูเก็ต 0.40% สมุทรปราการ 0.56% และ กทม. 0.59%
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งตัวเลขการส่งออกภาพรวมของประเทศในเดือนกันยายน ติดลบลดลงอยู่ที่ 3.9% จากเดือนสิงหาคมติดลบ 7.9% กรกฎาคม ติดลบ 11.4%
และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 85.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนสิงหาคม และปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาดวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอันดับ 1 คือ ปัญหาโควิด-19 รองลงมา คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันนั้น พบว่าภาคธุรกิจเริ่มให้น้ำหนักกับ การเมืองมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับปัญหาโควิด-19 โดยกังวลต่อการยกระดับความรุนแรงของการชุมนุมที่ส่งผลถึงความปลอดภัย การส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ แนวร่วมการชุมนุมที่ขยายวงกว้างและระยะเวลาในการชุมนุมยาวนานมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในการชุมนุมได้ และมองว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างทางความคิดส่งผลกระทบต่อสังคมทัศนคติและความสามัคคีภายในประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง
ดังนั้น แม้จะมีข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้วิตกกังวล ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งบริหารจัดการ ขจัดเงื่อนไข ที่จะสุมไฟ ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ