รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต รายงานความสุขโลกประจำปี 2563 (World Happiness Report) ขององค์การสหประชาชาติ เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ได้จากการรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2561-2562 (ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากนัก) พบว่า ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก คือ ฟินแลนด์ (7.809 คะแนน) รองลงมาคือ เดนมาร์ก (7.646 คะแนน) สวิตเซอร์แลนด์ (7.560 คะแนน) ไอซ์แลนด์ (7.504 คะแนน) และนอร์เวย์ (7.488 คะแนน) ส่วนประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาอยู่อันดับ 18 (6.940 คะแนน) รัสเซีย อันดับ 73 (5.546 คะแนน) และ จีน อันดับ 94 (5.124 คะแนน) ประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่ 54 มี 5.999 คะแนน โดยผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ ระบุไว้ว่า ประเทศที่มีความสุขที่สุดนั้น คือประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ คอรัปชันน้อย ประชาชนมีเสรีภาพ มีสวัสดิการสังคมที่ดี มีสำนึกของความเป็นเจ้าของ ไว้วางใจและสนุกด้วยกัน แบ่งปันกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเหลื่อมล้ำของความเป็นอยู่น้อย เมื่อหันกลับมาพิจารณา “ความสุข” ของคนไทยแล้ว จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน คนไทยมีความสุขอยู่เกือบ ๆ 6 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความสุขครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในสภาพเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ รายได้ หนี้สิน การศึกษา การทุจริตคอรัปชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะความขัดแย้งมายาวนาน รัฐประหารบ่อยครั้ง ก็อาจส่งผลให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศน้อย เคร่งเครียด ไว้เชื่อใจใครได้ยาก พะว้าพะวงกับปัญหาชีวิตและปากท้องของตน คนไทยจึงมีความสุขได้เต็มที่เพียง 5.999 คะแนนเท่านั้น จากภาพความสุขในระดับนานาชาติ เมื่อต้องสะท้อนความสุขของคนไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ ต้องใช้ชีวิตแบบฝืดเคือง จึงเห็นภาพคนไทยชีวิตกันอย่างยากลำบาก ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่อย่างไรให้มีความสุขในแต่ละวัน การจะเจาะให้ออกมาให้ได้เป็น “ข้อมูล” เป็น “ตัวเลข” ก็ใช่ว่าจะง่าย การอาศัย “โพล” ก็ดูจะมีหลักการเพื่อการอ้างถึงที่พอจะเชื่อถือได้ สัปดาห์นี้จึงต้องจับจ้องไปที่หัวข้อของ “สวนดุสิตโพล” ที่ว่า “อยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” ซึ่งโพลมีอยู่ 4 หัวข้อ น่าสนใจมากครับ 1. ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้ความสุขของท่านเพิ่มขึ้นหรือลดลง? 2. ปัจจัยอะไร? ที่ส่งผลต่อความสุขของท่าน 3. ท่านมีวิธีสร้างความสุขให้ตนเองในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองได้อย่างไร? และ 4. มาตรการใดของภาครัฐที่จะช่วยให้มีความสุขเพิ่มมากขึ้น ในวันนี้ยังไม่ทราบผลการสำรวจ หรือ “ผลโพล” ว่าคนไทยจะมีความสุขอย่างไรในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ เนื่องจากโพลเรื่องนี้จะเผยแพร่ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2563 นี้ แต่จากข้อมูลต่าง ๆ ก็พอจะคาดเดาได้ว่าความสุขของคนไทยส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับ “ปากท้อง” หรือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งหน้าที่การงาน รายได้ ค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว สุขภาพ ล้วนกระทบต่ออารมณ์ความสุข ความทุกข์ได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้นอกจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจแล้ว เรื่องสภาพสังคม สภาพการเมือง ก็มีผลต่อความสุขด้วยเช่นกัน รัฐบาลจึงควรเร่งสร้างความประนีประนอมในสังคม ลดความขัดแย้ง เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไปได้ ประชาชนจะได้อยู่ในสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ดี ก็จะทำให้ชีวิตมีความสุขเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย ไม่เช่นนั้น คนไทยก็ต้องหันมาเรียนรู้ “สุขให้เป็น” ในยุคฝืดเคือง เช่นนี้ต่อไป เหมือนกับงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า คนมีพัฒนาการด้านความสุข ไม่เพียงแต่สุขเพราะอารมณ์ทางบวก แต่เรียนรู้ที่จะสุขด้วยอารมณ์ทางลบได้เช่นกัน เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด ความเศร้า เป็นต้น “ความสุข” แม้จะอยู่ท่ามกลาง “ภาวะแห่งความทุกข์” ก็สุขได้ นี่คือสิ่งปรารถนาของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน อีกไม่กี่วันก็รู้ว่า “ชาวบ้าน” เขามีความสุขบนความทุกข์ได้อย่างไร? รอหน่อยนะครับ ท่านผู้อ่าน!