การชุมนุมเคลื่อนไหวของ "คณะราษฎร" ที่นัดรวมพลที่สถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็น จุดหักเหขึ้นมาอย่างสนใจ !
เนื่องจากการชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้าMRT ท่าพระ ได้มี "มือดี" มือมืดโยนลูกบอลประทัดเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในระหว่างติดตามและตรวจสอบเพื่อหาผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นฝีมือของใคร
ทางด้าน "พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย" รอง ผบช.น. ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งระบุถึงผู้ต้องสงสัย อาจจะมาจาก คน4กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคืออาชีวะ เนื่องจากในพื้นที่เกิดเหตุมีกลุ่มอาชีวะหลายกลุ่ม กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กลุ่มมือที่ 3 ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม และ4.คือกลุ่มผู้ชุมนุมเอง
ขณะที่แกนนำม็อบคณะราษฎร ได้ใช้สถานการณ์ที่กำลังส่อเค้าว่าจากนี้ไปอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม ด้วยการประกาศ "ยกระดับ" การชุมนุม เพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยงานนี้ "ทนายอานนท์" อานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว ได้รับอิสรภาพ ประกาศชัดเจนว่าจะยกระดับการชุมนุม
แน่นอนว่าการประกาศยกระดับการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร นั้นดูเหมือนว่า เป็นช่วงที่ "เหตุการณ์" มา "เข้าทาง" อย่างช่วยไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร จะไม่มีประเด็นที่สามารถนำมาใช้ยกระดับเพิ่มดีกรีความแรง เพื่อกดดันรัฐบาลได้เลย
การยกระดับของผู้ชุมนุมถูกจับตามองมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งที่พากันไปยกพลไปปิดล้อมที่ทำเนียบรัฐบาลถึงสองครั้งสองคราว ว่าจะถึงขั้นบุกเข้าไปภายในบริเวณทำเนียบฯหรือไม่ แต่แล้วแกนนำสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้วเพราะอะไร แกนนำจึงไม่เลือกเล่นเกมแรง
อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาจากแกนนำเป็นนักศึกษา และเยาวชน ไม่ใช่มืออาชีพและไม่รู้ว่าฝ่ายความมั่นคง จะรับมือกับผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปสถานที่สำคัญด้วยอะไร อย่าลืมว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับม็อบเสื้อสีต่างๆ แต่อย่างใด
ทางหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลประเมินแล้วว่าลำพัง การใช้พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ 2558 ก็สามารถ "เอาอยู่" มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่านั้น
และอีกทางหนึ่งยังเป็นเพราะฝ่ายผู้ชุมนุมเอง ก็รู้ดีว่า การผลักดันให้สถานการณ์เดินไปสู่ความรุนแรง ก็อาจจะต้องปะทะกับ "ชาวบ้าน" ที่ได้รับความเดือดร้อนแทนที่ รัฐบาลจะสนองตอบ เพราะหมายความว่าม็อบกำลังตบมืออยู่ข้างเดียว โดยที่รัฐบาลไม่เอาด้วย
การอดทน อดกลั้นของฝ่ายรัฐบาลที่จะไม่ใช้ "ยาแรง" เข้ามาควบคุมการชุมนุม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายช็อตที่สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อภาพที่เห็นและดำเนินการตลอดมา คือการที่รัฐบาลพยายามจำกัดวงและให้ม็อบเป็นฝ่ายเล่นเกมอยู่ฝ่ายเดียว
แต่ดูเหมือนนาทีนี้ สำหรับแกนนำม็อบแล้ว หากปล่อยให้การชุมนุมเป็นไปตามธรรมชาติ ปล่อยให้ยืดเยื้อ โดยที่ไม่มีการบริหารจัดการ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา โอกาสที่แนวร่วมจะหดหาย ถูกฝั่งรัฐบาลและ คนที่รักสถาบัน ดึงกลับออกไป จะยิ่งมีมากขึ้น
แต่การยกระดับเพื่อคงสภาพการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร และปฏิรูปสถาบัน เพื่อสร้างน้ำหนัก สร้างแรงกดดันในสภาวะที่เกมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก ดังนั้นแม้ไม่อยากปรับโหมดไปสู่ความรุนแรง แต่ก็อาจไม่มีทางเลือกมากนัก ส่วนจะดึงเกมการกดดันรัฐบาลไปสู่ความเข้มข้นได้มากน้อยแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่ต้องมองให้รอบด้าน เพื่อป้องกันการติดกับดักของตัวเอง ในตอนท้าย !