นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เรื่อง “คำพูดที่ทำให้หัวใจฉีดแรงได้เสมอ” มีเนื้อหาระบุว่า “คำว่า ประชาธิปไตย , ความยุติธรรม , ความเท่าเทียม , เสรีภาพ
หรือแม้กระทั่งคำว่า “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”
นายนิพิฏฐ์ ระบุว่าคำเหล่านี้เวลาพูด มันทำให้เลือดลมฉีดแรงได้เสมอ และสามารถเรียกประชาชนให้ออกมาชุมนุมได้เสมอ คำพูดเหล่านี้ใช้วนเวียนกันมาร่วม 40-50 ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีการผลิตซ้ำ ยังมีคนนำมาพูด และยังมีคนปรบมือให้ เพียงผู้ขึ้นมาพูดเท่านั้นที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา”
แม้วาทกรรมดังที่นายนิพิฏฐ์หยิบยกขึ้นมากล่าวนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามักถูกยกมาเป็นข้ออ้างในการปลุกมวลชนมาทุกยุคทุกสมัย หากแต่มีปัจจัยและบริบทต่างๆ ที่แตกต่างกันตามแต่สถานการณ์ กระนั้นชนวนเหตุแห่งการปลุกเร้าให้ถ้อยคำดังกล่าว มีความหนักแน่น และเกิดอารมณ์ร่วมนั้น ก็สมควรที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาไม่แตกต่างกัน
แต่ในสถานการณ์ที่คำว่า “ประชาธิปไตย” “ความยุติธรรม” “ความเท่าเทียม” “เสรีภาพ” และประโยคที่ว่า“เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” กำลังถูกผลิตซ้ำ
ยังมีอีกคำที่ถูกผลิตซ้ำคู่ขนานไปด้วยกัน คือ คำว่า “ปฏิวัติ” และ “รัฐประหาร” ที่ไม่เคยเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย
“ปฏิวัติ” คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ
ส่วน “รัฐประหาร”คือ การยึดอำนาจการบริหารจากผู้ปกครองรัฐ
แม้จะมีความเห็นของนักวิชาการบางส่วนที่มองว่า ประเทศไทยมีแต่การรัฐประหารไม่มีการปฏิวัติ หรือเป็นลูกผสม อย่างละครึ่ง ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
แต่ที่แน่ๆ 88 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง
ภายหลังการประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศจบลงด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการซื้อเวลาของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ขณะที่การอภิปรายที่ผ่านมาเป็นเหมือนเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า การปรึกษาหารือกันเพื่อแก้วิกฤติ ทำให้สถานการณ์การเมืองยังคงตึงเครียดและเขม็งเกลียว
คำว่า “ปฏิวัติ” ถูกพูดถึงอีกครั้ง แม้ที่ผ่านมาจะมีกระแสข่าวมาตลอดก็ตาม แต่คำว่า “ปฏิวัติ” ออกมาจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยปลุกผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนำไปสู่การรัฐประหารโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในปี 2549
รูปแบบที่นายสนธิ โยนหินถามทางนั้นมีความอยู่ว่า เสนอให้ยึดอำนาจแล้วถวายพระราชอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
จะเห็นได้ว่า วาทกรรมประชาธิปไตย และปฏิวัติ นั้นอยู่คู่การเมืองไทยมาตลอด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สุกงอมและพาไปสู่จุดใดก่อนกัน