ทองแถม นาถจำนง
คำว่า “โบราณาคติ” ข้าพเจ้าแปลงมาจากคำว่า “โบราณาคดี” (ไม่ใช่ “โบราณคดี”) ที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านตั้งขึ้นด้วยอารมณ์ขัน หมายให้มีนัยถึง การศึกษา การเผยแพร่ เรื่องโบราณอย่างมีอคติ
การมีอคติก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา คนที่จะเขียนประวัติศาสตร์ได้อย่างปราศอคติแท้จริง เห็นจะไม่มีในโลกนี้
อคตินี้ ก็คือ ฉันทาคติ โทสะคติ และภยาคติ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความเรื่อง “โบราณาคดี” ท่านบอกว่า ท่านคิดคำนี้ขึ้นมาเอง ท่านเขียนว่า
“หัวเรื่องของเรื่องนี้บอกไว้แล้วว่า จะได้พูดกันถึงศาสตร์ใหม่ คือโบราณาคดี อันเป็นคำที่เกิดขึ้นจากการเอาคำว่า โบราณ บวกเข้ากับคำว่า อคติ ผู้บัญญัติศัพท์คำนี้คือตัวผมเองตั้งใจที่จะให้มีความหมายถึงการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นอันเกี่ยวกับเรื่องโบราณด้วยอคติ ไม่ว่าอคตินั้นจะเป็นฉันทาคติ คือคติอันเกิดจากความรัก หรือโทสาคติ คติอันเกิดจากความเกลียด โมหาคติ คติที่เกิดจากความหลงหรือภยาคติ คติอันเกิดจากความกลัวก็ตามที
โบราณาคดีที่ผมเห็นอยู่ทุกวันนี้มักจะเกิดขึ้นจากฉันทาคติเกือบทั้งสิ้น เพราะตามความจริงแล้วท่านนักโบราณคดีทุกท่านเป็นผู้รักชาติบ้านเมือง และมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองไม่น้อยกว่าผู้ใด”
ประวัติศาสตร์นั้น ไม่ว่าใครเขียน ก็ล้วนมีอคติทั้งนั้นแหละครับ ข้าพเจ้าจึงประกาศไว้เลยว่าข้อเขียนของข้าพเจ้าเป็น “โบราณคติ”
………………………………
หนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดต่าง ๆ นั้น ส่วนมากก็คัดลอกงานเขียนนของทางราชการต่อ ๆ กันมา ยิ่งงานในอินเตอร์เน็ตยิ่งร้ายใหญ่ คัดลอกกันต่อ ๆ มาอย่างขาดวิจารณญาณ โดยเฉพาะเว็บไวต์ของหน่วยราชการในจังหวัดเองนั่นแหละครับ มีผิดพลาดเยอะไป
ขอวันนี้อยากแนะนำแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์ “เมือง” (จังหวัด) ที่ดีแนวทางหนึ่ง รูปธรรมของการค้นคว้าการเขียนแนวนี้ ท่านผู้อ่านศึกษาได้จากหนังสือ “ศรีสุพรรณภูมิ” เขียนโดย ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ พิมพ์โดย “ดวงกมลพับลิชชิ่ง” เมื่อ พ.ศ 2553
“ประชุม พุ่มเพ็งพันธุ์” เคยเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายจังหวัด ท่านไปทำงานที่ใดก็จะศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง หนังสือ “ศรีสุพรรณภูมิ” มีข้อดีเด่นอยู่ทุกบท แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าจุดที่ควรแนะนำให้ชนรุ่นหลังใส่ใจคือ บทที่หนึ่ง “นิเวศสิ่งแวดล้อม” – ซึ่งเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของ “สายน้ำ” ของนิเวศสิ่งแวดล้อม
สายน้ำ , ทุ่งราบ , ภูเขา , นิเวศสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญมากต่อการพัฒนาการประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น แต่ข้อมูลส่วนนี้ ตำราประวัติศาสตร์ทั่ว ๆ ไป ไม่ค่อยให้ความสำคัญ สาเหตุก็คงมาจาก “ข้อมูล”เหล่านี้หายาก คุณประชุม พุ่มเพ็งพันธุ์ เขียนไว้ใน “อารัมภบท” ว่า
“สิ่งที่ผู้เขียนข้องใจมานานคือ หนังสือต่าง ๆ นอกจากกล่าวถึงด้านภูมิศาสตร์น้อยแล้ว ยังเป็นงานเขียนที่ลอกต่อ ๆ กันมาจึงได้พบ “แม่น้ำด้วน” อยู่เสมอ ทำให้ต้องพิสูจน์ข้อสงสัยเดินทางสืบค้นไปยังต้นน้ำ เพื่อหาคำตอบว่าจริง ๆ แล้ว แม่น้ำท่าว้า (ท่าคอย) เดิมนั้นไม่ได้ด้วน เหตุที่ด้วนเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน และระบบชลประทานยุคใหม่เป็นเหตุ ดังนั้นในบริเฉทที่ 1 เรื่องนิเวศสิ่งแวดล้อม จะเน้นกล่าวถึงแม่น้ำลำคลองเป็นสำคัญ เพราะเมองสุพรรณเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” มาแต่สมัยทวารวดี จนมีชื่อว่า “เมืองทอง” คือเมืองแห่งความอุดมโภคทรัพย์ ถ้าไม่รู้จักสายน้ำเหล่านี้แล้วจะรู้จักยุคสุวรรณภูมิ-สุพรรณภูมิ ได้อย่างไร
และเผอิญไปพบคุณทวาย ปรึกษา ข้าราชการบำนาญกรมชประทาน อดีตช่างสำรวจโครงการประตูน้ำสามชุก ซึ่งชำนาญพื้นที่ อ.สามชุก อ.เดิมบางนางบวช ทำให้ทราบข้อเท็จจริงในพื้นที่เป็นอันมาก
โดยเฉพาะ อ.สามชุก อดีตเคยเป็น “ชุมทาง” สายน้ำต่าง ๆ มาบรรจบ ดังนั้นจึงไม่สงสัยเลยว่าเคยเป็นชุมทางการค้ามาก่อน เป็นเหตุให้พวกขอมไปตั้งเมืองหน้าด่าน(เมืองเนินทางพระ)ที่นั่น และที่เรียกว่า “คลองขอม” เพราะพวกขอมขึ้นไปตั้งด่านขนอนจุกประตูทิศเหนือแม่น้ำท่าจีนที่นั่น”
การอธิบายพัฒนาการประวัติศาสตร์ของท้องที่ โดยมีรายละเอียดทางภูมิศาสตร์ประกอบชัดแจ้งนั้น ทำยาก เพราะภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องสายน้ำ เปลี่ยนแผลงไปมากมายแล้ว คนรุ่นใหม่ที่จะค้นว้าจำเป็นต้องลงทุนค้นข้อมูลเก่า ๆ ที่หาได้ยาก และสอบถามจากผู้รู้รุ่นเก่า อย่างเช่นที่คุณประชุม อ้างถึงคุณ “ทวาย ปรึกษา” นายช่างชลประทาน
นอกจากนำเสนอข้อมูลสายน้ำโบราณแล้ว คุณประทุม ยังให้ความสำคัญกับนิทานเกี่ยวกับภูเขาในทุ่งราบแถบสุพรรณ เพราะ “ภูเขาในพื้นราบใกล้ลำน้ำถือเป็นชัยภูมิดี มักเป็นแหล่งกำเนิดชุมชน
ในบทที่สอง คุณประชุม เสนอข้อมูล “สุพรรณภูมิในตำนานมอญ” ในบทที่สาม ท่านเสนอข้อมูล “สุพรรณภูมิในจดหมายเหตุจีน” สามบทนี้นับว่าให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับประวัติพัฒนาการของท้องถิ่น “อู่ทอง- สุพรรณบุรี” ไว้ค่อนข้างสมบูรณ์รอบด้าน
นี่เป็นผลงานใหม่ มิใช่แค่ความรู้ที่ลอก ๆ กันมา แนวทางอย่างนี้แหละครับ ที่ข้าพเจ้าอยากเห็นนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ทำวิจัยอย่างนี้บ้าง