ท่าทีจาก "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชัดเจนทุกครั้งที่ตอบคำถามว่า เขาเองจะไม่ลาออก เพื่อหนีปัญหา ละทิ้งหน้าที่ในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤติ ยิ่งกลายเป็น "โจทย์ข้อยาก" สำหรับ "ฝั่งตรงข้าม" มากขึ้นทุกที
เพราะนี่กำลังหมายความว่า แท้จริงแล้ว "3ข้อเรียกร้อง" ที่หยิบขึ้นมากดดัน รัฐบาล พุ่งเป้าไปยังตัวพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งเรื่องให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ไปจนถึงการเสนอให้ "ปฏิรูปสถาบัน" จะไม่มีเรื่องใดที่สามารถ "จบที่รุ่นเรา" ได้ตามที่ กลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ยื่นคำขาดเอาไว้ได้เลยสักข้อเดียว
แม้รัฐบาลจะไฟเขียวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ผู้ชุมนุมและพรรคฝ่ายค้านเอง ประกาศไม่ยอมรับ พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกจากจะมาจากการรัฐประหารโดยคมช. แล้วยังเป็นรัฐธรรมนูญที่วางกับดักเอาไว้สำหรับ ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าการที่รัฐบาลดึงเกมแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภาฯ จะเป็นคำตอบที่ผู้ชุมนุมพึงพอใจ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือรื้อโละ แล้วเขียนขึ้นมาใหม่
เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะลาออก ตามเสียงเรียกร้องและแรงกดดันที่จงใจดึงต่างชาติให้หันมามองความเป็นไปของการเมืองในบ้านเราแล้ว รัฐธรรมนูญที่หวังว่าจะได้เห็น ก่อนการเลือกตั้งรอบใหม่ก็ยังต้องร้องเพลงรอ
มิหนำซ้ำข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน กลับยิ่งห่างไกลออกไปทุกที !
เพราะไม่เพียงแต่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีทางสนองตอบเท่านั้น ยังกลายเป็นว่าเวลานี้ เกิดกลุ่มการเมืองภาคประชาชน และกลุ่มบุคคลคณะต่างๆ พากันออกมาเคลื่อนไหว "แสดงพลัง" ยืนหยัดว่า "สถาบันพระมหากษัติรย์" คือ1ใน3 เสาหลักของชาติที่ต้องธำรง รักษาเอาไว้
การชุมนุมเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎรผ่านพ้นมากว่าเดือน แต่ดูเหมือนว่าการเดินทางของคณะราษฎร ยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายออกไปทุกที !
แต่การชุมนุมเพื่อประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ก็ไม่อาจละวางลงได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีผลกระทบต่อ "แนวร่วม" ทั้งประชาชนและกลุ่มนักวิชาการ นักการเมืองที่ออกมาให้การสนับสนุนทันที แต่การที่จะผลักดันให้เกิดเป็น "ม็อบเบิ้มๆ" ที่ยกระดับข้อเรียกร้องให้รุนแรงมากขึ้น ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
โดยเฉพาะการชูประเด็นที่ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเริ่มมองแล้วว่าพลังของประชาชนที่รักและเทิดทูนสถาบันนั้นไม่มีน้อย
นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แกนนำผู้ชุมนุมต่างถูกดำเนินคดี อย่างต่อเนื่อง ได้บั่นทอนพลังของคณะราษฎรไม่น้อย แม้ก่อนหน้านี้ในที่ชุมนุมจะพยายามชูประเด็นว่า ม็อบไม่มีการแกนนำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกความเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง จะต้องรอฟังการส่งสัญญาณ จากแกนนำผ่านมือถือ ทวิตเตอร์ โดยที่ไม่ต้องมาปรากฎตัว
แต่ปัญหาเวลานี้ กำลังอยู่ที่ว่า หากสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลยังยืดเยื้อต่อไปเช่นนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมเองจะยังคงความแข็งแกร่งเอาไว้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะลำพังการระดมมวลชนเพื่อแสดงพลังในเชิงปริมาณในแต่ละครั้งของการชุมนุม ตามสถานที่ต่างๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ครั้นจะยกระดับไปสู่ "ความรุนแรง" ก็ดูจะสุ่มเสี่ยง กลายเป็นการเปิดหน้า ล่อเป้าให้เกิดรัฐประหารได้อย่างชอบธรรมแทน!