ในวิกฤติที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญอยู่นั้น มองอีกแง่หนึ่งกำลังเป็นโอกาสครั้งใหญ่ ในการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแต่เล่นเกมการเมือง รับมือกับการประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมรายวัน ในสงครามพันทางของฝ่ายตรงข้ามเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นโอกาสในการหันกลับมาพิจารณาปัจจัยต่างๆของประเทศ ที่ทำให้เกิดอาการ “ฝีแตก” ในวันนี้ ด้วยการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน ต่างฝ่ายต่างก็อ้างความชอบธรรม ว่าทำไปด้วยความรักชาติและต้องการปกป้องสถาบัน ทั้งนี้ ในช่วงแรก กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขึ้นมา และตามด้วยเหตุการณ์เดือนตุลา โดยพวกเขาเชื่อมั่นในข้อมูลจากกลุ่มเดียวกันเอง ที่ส่งผ่านทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มเดียวกัน ในมุมที่เป็นประโยชน์ต่อการปลุกเร้าอารมณ์ร่วมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยที่ไม่ได้รับฟังข้อมูลรอบด้าน หรือหาทางพิสูจน์ว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นมีข้อเท็จจริงประการใด อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในส่วนของนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ร่วมกับนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ประชุมได้หารือเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการปรับหลักสูตรใน 8 กลุ่มสาระวิชาหลักจากหลักสูตรเดิม มาอัพเดตใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น วิชาสังคมศึกษา ด้านเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2500 เป็นต้นไป มีเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญบางช่วงบางตอนขาดหายไป อย่างเรื่องแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ทั้งยังไม่มีการใส่เนื้อหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้เอาไว้ในบทเรียน จึงทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้การพัฒนาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในแต่ละยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหลักสูตรใหม่จะไม่เน้นการท่องจำ แต่จะสร้างบทเรียนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น โดยการปรับเนื้อหาในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นจะมีมหาวิทยาลัยมาช่วยออกแบบหลักสูตรให้ โดยจะเสนอหลักสูตรใหม่ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาได้ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมีเป้าหมายให้หลักสูตรใหม่ได้ทันใช้ในปีการศึกษา 2565 แม้จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกัน หากข้อมูลที่ผิดพลาดและบิดเบือนยังถูกส่งต่อโลดแล่นอยู่ในโลกออนไลน์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียแบบกลุ่มอยู่ ก็อาจจะรอวันที่ปัญหาปะทุขึ้นมาใหมอีกในอนาคต ฉะนั้นเฉพาะหน้าผู้เกี่ยวข้องต่างๆ คงต้องลุกขึ้นมาหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะชำระสะสางข้อมูลเหล่านี้ ออกไปด้วยวิธีการอย่างอารยะ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขณะเดียวกัน จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องบรรจุหลักสูตรหน้าที่พลเมืองอย่างเข้มข้น ที่ไม่ใช่อยู่แต่ภายในห้องเรียน แต่จะต้องลงลึกไปในระดับปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงจิตวิญญาณอย่างแท้จริง การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และรากเหง้าของความเป็นชาติ เพื่อปลูกฝังให้มีความรักชาติและสถาบันแล้ว สร้างคนให้มีคุณภาพในการสร้างชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ด้วยหวังว่าประเทศชาติจึงจะมีความเข้มแข็งอีกครั้งในอนาคต