ทวี สุรฤทธิกุล
พรรคการเมืองแปลว่าการแบ่งฝ่ายแบ่งพวก “พรรคการเมือง” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Party” ที่มีรากศัพท์ว่า “Part” แปลว่า “การแยกส่วน” ส่วนในทางวิชาการมีความหมายว่า “องค์คณะของบุคคลที่มารวมกันด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่ตรงกันและดำเนินการตามความคิดนั้นเพื่อให้บรรลุผลตามที่ต้องการ” แต่ด้วยเหตุที่ผู้คนมีความต้องการที่หลากหลายและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน พรรคการเมืองในความหมายใหม่จึงมีความหมายถึง “กลุ่มบุคคลที่ทำการรวบรวมและประสานความคิดเห็นและความต้องการที่หลากหลาย เพื่อสร้างความสุขความพึงพอใจให้แก่ประชาชน ผ่านกระบวนการทางการเมืองการปกครองและการมีส่วนร่วมจากประชาชน”
ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมีข้อมูลว่า รัฐธรรมนูญธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้วนี้(ซึ่งกำลังรอการปรับแต่งให้เรียบร้อยก่อนทูลเกล้าฯลงพระปรมาภิไธย) “ไม่ส่งเสริมพรรคการเมือง” หรืออีกนัยหนึ่ง “ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ” หรือ “ไม่ส่งเสริมพรรคเล็ก” และ “โน้มนำให้ไปอิงแอบผู้มีอำนาจ” แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่า “สร้างความแตกแยกในสังคม” และ “ทำให้ประชาธิปไตยของไทยแหลกสลาย”
สัปดาห์ที่ผ่านมาแวดวงการเมืองไทยพูดถึงกันแต่ประเด็น “นายกฯคนนอก” ที่สุดเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่างฯ(กรธ.)ได้สรุปว่า สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่อาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคและผู้ที่พรรคการเมืองนั้นเห็นเหมาะสม ซึ่งคนในส่วนหลังนี้แหละคือ “คนนอก” แต่พรรคนั้นก็ต้องมี ส.ส.เกินกว่า 25 คนจึงจะได้มีการนำรายชื่อของบุคคลที่พรรคนั้นเสนอมา เอาเข้ามาโหวตรับเลือกในสภาได้ และยังมีขั้นตอนว่าหากครั้งแรกตัดสินกันด้วยคะแนนกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาแล้วไม่ผ่าน ต่อไปการเสนอชื่อก็จะต้องใช้คะแนนเสนอใหม่ 2 ใน 3
ประเด็นการเสนอตัวนายกฯนี้ ท่านที่ไม่คุ้นเคยกับระบบการเมืองไทยอาจจะมองว่า “ทำไมมันจึงยุ่งยากนัก” แต่สำหรับท่านที่ติดตามการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องก็จะมองออกว่า “นี่แหละคือปัญหาของระบบการเมืองไทย” เพราะประเทศไทยเรามีโครงสร้างทางการเมืองชั้นเดียว คือ “การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ” แต่ด้วยเหตุที่ชนชั้นนำที่มีอิทธิพลที่สุดของเราก็คือ “อำมาตย์” ซึ่งได้แก่ชนชั้นนำในระบบราชการ โดยเฉพาะ “ทหาร” แม้ในยุคที่เรามีการเลือกตั้งกลุ่มอำมาตย์เหล่านี้ก็จะมีบทบาทในการรับรองผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งนี้เช่นกัน ยิ่งในยุคเผด็จการก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะทหารจะเข้ามาจัดการกลไกทางการเมืองนี้ทั้งหมด อย่างที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ภายใต้ความยุ่งยากของการหาคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ ก็มีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)บางท่านเสนอว่า น่าจะมีขั้นตอนของการเสนอชื่อที่ราบรื่น โดยให้มีการตกลง หรือ “เตี๊ยม” ชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเสียก่อน ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งกับวุฒิสภาที่มาจาก คสช.แต่งตั้ง เรียกว่าเป็นวิธีแบบ “มหาฉันทามติ” ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่เมื่อมองด้วยหลักการของระบอบประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีทางจะเป็นไปได้ หรืออาจจะนำไปสู่ “มหาวิบัติ” นั่นเลยเชียว
จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับนักการเมืองบางคน เขาบอกว่าการที่จะให้พรรคการเมืองทำข้อตกลงกับสมาชิกวุฒิสภานั้น น่าจะเป็นการ “ตระบัดสัตย์” ต่อประชาชนที่เลือก ส.ส.เข้ามา เพราะ ส.ส.มีพันธะสัญญากับประชาชนและเป็น “คู่สัญญา” ที่ชัดเจน ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภาเป็น “ลิ่วล้อ” ของผู้มีอำนาจและไม่ได้ผูกมัดกับประชาชน อย่างไรก็ตามในทัศนะของท่านผู้เสนอแนวคิดนี้ก็บอกว่า ทหารก็คือประชาชน ในขณะเดียวกันที่ทหารทำอย่างนี้ (หมายถึงทำรัฐประหาร ควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการบริหารประเทศ) ก็ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน จึงไม่ต้องไปตะขิดตะขวงใจว่า ส.ส.มาร่วมมือกับ ส.ว.แล้ว “จะไม่งาม”
นักการเมืองท่านหนึ่งบอกว่า หลายปีมานี้การเมืองไทยมีการแบ่งขั้วออกเป็น ๒ ขั้วอย่างชัดเจน โดยมี “หัว” ที่แต่ละพวกนับถืออยู่อย่างมั่นคง โดยแต่ละฝ่ายก็ถือว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกและอีกฝ่ายหนึ่งนั้นผิด ขณะนี้ฝ่ายที่ถูกไล่ลงจากเวทีก็ยังไม่ยอมแพ้ เมื่อมีการเลือกตั้งก็จะต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการเดิมพันด้วยชีวิต ด้วยอนาคตของวงศ์ตระกูล(ที่มีเงินมหาศาล) และด้วยจำนวนคนที่ยังนับถืออยู่จำนวนมหาศาลนั้น ส่วนฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ก็คิดว่าประชาชนอยู่ข้างตนเป็นจำนวนมาก จึง “หลง” ว่าจะสามารถต่อกรกับกลุ่ม “ทุนสามานย์” ที่โค่นล้มมาแล้วนั้นได้ รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคที่คิดจะหนุนทหารนั้นด้วย
นักการเมืองผู้นี้ยังเชื่อต่อไปว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เคยมีอำนาจและยังเป็นรักของประชาชนจำนวนมากนี้จะสู้อย่าง “ถวายหัว” ไม่ใช่แต่เพียงพรรคเดียว แต่จะจัดพรรค “นอมินี” ขึ้นมาขัดขวางพรรคอื่น ดังนั้นการแข่งขันก็จะมีความรุนแรง ทั้งในระดับพื้นที่และในระดับชาติ ท่านว่าบางทีอาจจะนำไปสู่ “สงครามกลางเมือง” แม้การเลือกตั้งอาจจะผ่านไปได้อย่างเรียบร้อย(ภายใต้การแข่งขันกันอย่างดุเดือดนั้น) แต่พอเลือกตั้งเสร็จที่จะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงการจัดตั้งรัฐบาล รัฐสภาน่าจะมีความปั่นป่วนวุ่นวาย จึงเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่มีอำนาจและคิดจะกุทอำนาจต่อไปนั้นว่าจะควบคุมให้สงบเรียบร้อยได้อย่างไร สงครามกลางเมืองอาจจะยังไม่เกิด แต่สงครามกลางสภานั้นเกิดขึ้นแน่ๆ