ทวี สุรฤทธิกุล
ประเด็นสุดท้าย “สภาปวงชน” ควรมีที่มาอย่างไร?
ในข้อเสนอของผู้เขียน 2 ประเด็นก่อนหน้านี้ คือประเด็นแรกสภาควรมีสภาเดียว โดยเอาวุฒิสภาออกไปเสียแล้วให้มี “สภาปวงชน” ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเพิ่มบทบาทไปสู่การเป็นตัวแทนและเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ทั่วถึง และประเด็นต่อมาเกี่ยวกับการควบคุมดูแลสมาชิกสภาปวงชน เสนอว่าควรใช้การควบคุมทางกฎหมายควบคู่ไปกับการควบคุมทางจริยธรรมให้เข้มข้นและจริงจัง จนมาถึงประเด็นสุดท้ายของการปฏิรูปรัฐสภาที่จะอภิปรายถึงการได้มาของสมาชิกสภาปวงชนเหล่านั้น
เริ่มต้นด้วยการพูดถึง “ระบบพรรค” ว่ายังจะเหมาะสมกับการทำงานในระบบรัฐสภาสมัยใหม่หรือไม่ ซึ่งในแนวทางอุดมคติมองเห็นว่าการที่มีพรรคการเมืองจะทำให้สังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย มีการแย่งชิงกันสร้างความนิยมเพื่อแข่งขันให้พรรคมีความยิ่งใหญ่ และจำทำให้เกิดระบบ “พวกเขาพวกเรา” ที่จะทำให้สังคมไม่มีความเสมอภาคที่จะได้รับผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันนั้น ดังนั้นการสลายระบบพรรคน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่ที่เน้นความเท่าเทียมและความทั่วถึง ซึ่งจะเห็นได้จากในประเทศที่ยังมีระบบพรรคอยู่นั้น ถ้าเป็นระบบหลายพรรค พรรคการเมืองก็จะเป็นไปในแบบการสร้างความนิยมเข้าไปในหมู่ประชาชนที่หลากหลาย จนถึงขั้นที่มี “พรรคการเมืองเฉพาะกลุ่ม” (Niche Party) เหมือนการขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น พรรคในแนวรักษ์โลก พรรคของเพศที่หลากหลาย และพรรคในแนวประเด็นปัญหาที่ผู้คนบางกลุ่มสนใจ เป็นต้น แต่ในประเทศที่มีระบบพรรคแบบ 2 พรรค ทั้งสองพรรคนั้นก็พยายามขยายฐานเสียงไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่านั้นเช่นกัน ด้วยการใช้นโยบายที่แยกย่อยจับเจาะลงไปในหมู่ประชาชนที่มีปัญหาต่าง ๆ ต่างกัน จนมีชื่อเรียกว่า “พรรคเอาทั้งหมด” (Omni Party)
อย่างไรก็ตามถ้าเรามองสภาพสังคมในสมัยใหม่ที่มีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดแต่แยกอยู่เป็นกลุ่ม ๆ รวมทั้งที่มีการกระจายตัวของปัญหาสังคมไปอย่างหลากหลาย การสร้างพรรคในรูปแบบดังกล่าวนอกจากจะต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมากแล้ว ยังจะต้องทำให้เราขาดผู้แทนของกลุ่มคนที่มีความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ของคนแต่ละกลุ่มนั้นอย่างลึกซึ้ง แบบที่เรียกว่า “พูดกันไม่รู้เรื่อง” ทำให้ในระยะสิบกว่าปีมานี้ได้เกิดแนวคิดที่จะสร้างระบบผู้แทนประชาชนในรัฐสภาให้กระจายตัวไปในหมู่คนที่กระจายและหลากหลายเหล่านั้น ทั้งนี้ในยุคต่อไปการมีพรรคการเมืองอาจจะไม่มีความจำเป็น แต่จะเป็นไปในแบบของ “จิตอาสาของกลุ่ม” คือการคัดสรรผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันในแต่ละกลุ่มที่มีความสามารถและพร้อมจะทุ่มเททำงานเพื่อกลุ่มคนของพวกเขาเหล่านั้น ดังนั้นคนที่จะเข้าไปทำงานในรัฐสภาอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องผ่านระบบเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องของ “การคัดสรร” จากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยกลไกทางสังคมที่มีอยู่ เช่น การแข่งขันกันทำงานเพื่อสังคมมาระยะเวลาหนึ่ง จนเป็นที่ยอมรับในสังคมของคนกลุ่มนั้น แล้วทางกลุ่มให้ความเห็นชอบและยินยอมให้บุคคลนั้นได้เป็น “ตัวแทน” ของพวกเขา ในแบบที่เป็น “อาสาสมัครประจำกลุ่ม” นั่นเอง
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในประการต่อมาก็คือ เมื่อไม่มีระบบพรรคแล้ว การทำงานในรัฐสภาจะไม่มีความวุ่นวายสับสนหรอกหรือ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้สามารถคลี่คลายไปเองได้ไม่ยากนัก ประการแรกก็เป็นเพราะว่าผู้แทนปวงชนที่เข้ามาสู่รัฐสภาในระบบการคัดสรรทางสังคมนี้ จะถูกกลุ่มคนในแต่ละสังคมนั้นควบคุมดูแลมาโดยตลอดนั้นแล้ว ประการต่อมาการทำงานแบบนี้จะทำให้เกิด “ประชาธิปไตยทางตรง” ที่เหมือนคนแต่ละกลุ่มได้เข้ามาทำงานด้วยตนเอง เพราะเป็นการทำงานในรูปแบบอาสาสมัครที่อยู่ในสายตาของประชาชนที่เลือกเขาเข้ามานั้นอย่างใกล้ชิด และประการสุดท้าย ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ คนที่ทำงานในสภาพแวดแล้อมแบบนี้จะถูกจับตาอย่างเข้มข้น ที่สำคัญผู้แทนแบบนี้ต้องแข่งขันกัน “ออกสื่อ” (ก็คือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั่นเอง) เพื่อให้มีการปรากฏตัวหรือ “มีตัวตน” เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่ประชาชนในกลุ่มของตน จะไปแอบ ๆ ซ่อน ๆ (โดยไม่เคยเห็นผลงานว่าทำอะไรหรือพูดอะไรเลยในรัฐสภา) อาศัยแต่ชื่อเสียงของพรรคแบบในระบบเก่าเอาชนะเลือกตั้งมาในหลาย ๆ สมัยไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นนักการเมืองในระบบนี้จะต้อง “Active” คือกระตือรือร้น ตื่นตัว และทำงานอย่างแข็งขันอย่างเต็มที่เต็มเวลา
ระบบรัฐสภาสมัยใหม่จะลดความเป็น “ศักดินา” ลงเป็นอย่างมาก เพราะตามประสบการณ์ของผู้เขียนที่ศึกษาในเรื่องนี้ในฐานะทำงานด้านวิชาการรัฐศาสตร์มากว่า 30 ปี ร่วมกับที่ได้ทำงานในภาคสนามกับพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคและกับนักการเมืองน้อยใหญ่หลาย ๆ คน รวมทั้งที่ได้เข้าไปทำงานอยู่ในรัฐสภามาในช่วงเวลาหนึ่ง มองเห็นว่ารัฐสภาไทยได้สร้างความเป็น “เจ้าใหญ่นายโต” และทำให้นักการเมืองเหล่านั้น “หลงตัวเอง” ว่าเป็น “เจ้าคนนายคน” โดยตลอด และเป็นเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่ง “อาการลืมตัว” หรือไม่เห็นหัวประชาชน โดยนักการเมืองในแบบนี้จะเอาใจและทำงานเพื่อนายของตัวเอง ซึ่งก็คือผู้มีอำนาจหรือเจ้าของพรรคเท่านั้น แต่ถ้านักการเมืองเหล่านี้มาจากการยอมรับนับถือและคัดสรรจากประชาชนโดยตรง เขาไม่เพียงแต่จะต้องรับผิดชอบหรือทำงานเพื่อประชาชนของเขาอย่างเต็มที่แล้ว เขายังจะต้อง “รักษาหน้าตา” หรือเป็นตัวแทนของความเป็น “หน้าตา” ให้กับกลุ่มประชาชนที่พวกเขาได้อาสาเข้ามาทำงานให้นั้นด้วย
การปฏิรูปรัฐสภาก็เช่นเดียวกันกับการปฏิรูปการเมืองในส่วนอื่น ๆ รวมถึงการปฏิรูปการเมืองโดยรวมนั้นด้วย ที่ต้องขึ้นอยู่กับ “คน” ที่เข้าไปทำงานอยู่ในแต่ละโครงสร้างทางการเมืองนั้นเป็นสำคัญ แม้เราจะวางระบบหรือทำโครงสร้างไว้ดีอย่างไร แต่ถ้าคนที่เข้ามาอยู่ในโครงสร้างส่วนต่าง ๆ นั้นเป็น “คนไม่ดี” ระบบหรือโครงสร้างที่วางไว้เป็นอย่างดีก็ไม่สามารถที่จะดีขึ้นได้
ด้วยคนดี อยู่ในระบบที่ดี บ้านเมืองจึงจะดี ว่าอย่างนั้นเถอะ