ต้องยอมรับว่าในช่วงวิกฤติการเมือง การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญ มีส่วนที่จะทำให้สถานการณ์เขม็งเกลียวหรือคลี่คลายลง การนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยความเห็นของประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย การนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงบางประการ ข้อมูลที่ถูกต้องกลับถูกตีความว่าโน้มเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ไม่ถูกใจ
ขณะเดียวกันก็มีสื่อบางส่วนที่ไม่คำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่จำนวนไม่น้อย จนมีวาทะกรรม “สื่อเลว” แพร่อยู่ในโลกออนไลน์
ก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการด้านสื่อและการสื่อสารจาก 24 สถาบันการศึกษาทั้งหมด 62 คน ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การสื่อสารเพื่อคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเห็นว่าทุกวันนี้ จำนวนการสื่อสารที่กระตุ้นความเกลียดชัง บิดเบือนความจริง และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจากสื่อมวลชนกระแสหลักหรือสื่อภาคประชาชนฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปและไม่เร่งหาทางแก้ไข อาจนำไปสู่วิกฤติ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงยิ่งในสังคม พร้อมกับเสนอทางออกไว้ 7 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและการสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อกันทั้งในการเผชิญหน้าและการสื่อสารผ่านสื่อทุกประเภท
2. ขอให้ภาครัฐจัดพื้นที่การสื่อสาร เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติดังกล่าวได้สื่อสารกัน รับฟังกัน และพูดคุยหาทางออกร่วมกันอย่างมีสติ
3. ขอให้ผู้บริหารองค์กรสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับในองค์กรสื่อมวลชนยึดมั่นในจรรยาบรรณสื่อและความรับผิดชอบต่อสังคม นำเสนอข้อมูลข่าวสารของเหตุการณ์อย่างถูกต้อง รอบด้าน ไม่กระตุ้นความเกลียดชัง มุ่งสร้างสติและสันติให้คนในสังคม
4. ขอให้องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อและการสื่อสาร ทั้งของภาครัฐและภาควิชาชีพปฏิบัติงานกำกับดูแลสื่อในเชิงรุกบนพื้นฐานของจรรยาบรรณสื่อ ความรับผิดชอบต่อสังคมและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านของคนในสังคม
5. ขอให้สถาบันการศึกษาและนักวิชาการด้านสื่อและการสื่อสารตระหนักถึงพันธกิจสำคัญของตนในการร่วมแก้ปัญหาสังคมด้วยการสื่อสาร โดยช่วยกันสื่อสารเพื่อสร้างสติและสันติใน สังคม รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการสื่อสารให้แก่นิสิตนักศึกษา และคนในสังคม เพื่อร่วมกันหาทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้
6. ขอให้คนในสังคมร่วมกันตรวจสอบการทำงานของสื่อที่มุ่งสร้างความเกลียดชัง บิดเบือนความจริง และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้
7. ขอให้ผู้ใช้สื่อมีสติในการส่งสารและรับสาร เคารพในความเป็นมนุษย์ ไม่สื่อสารสร้างความเกลียดชัง เปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อไม่ ตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังของฝ่ายใด
อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้รับสื่อ มีหลักในการติดตามข่าวสารสำคัญๆ 3 ประการคือ
1.ตรวจสอบแหล่งข่าว อ้างแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้หรือไม่
2.วิเคราะห์เจตนาในการนำเสนอข่าวนั้นๆ ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร
และ3.เสพสื่อด้วยใจเป็ยกลาง รับทราบและอย่าเพิ่งตัดสิน
เพื่อประคับประคองประเทศไทย ผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อที่อันตราย จำเป็นต้องเสพสื่ออย่างมีสติและมีเมตตาเห็นใจซึ่งกันและกัน