ทีมข่าวคิดลึก หลากหลายเรื่องร้อน กำลังประดังกันเข้าใส่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชนิดที่เรียกว่าเจ้าตัวแทบไม่ได้หายใจกันทีเดียวมิหนำซ้ำแต่ละเรื่อง ยังไม่ใช่แค่วาระด่วนเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือน"เผือกร้อน" อีกด้วยต่างหาก ! เมื่อรัฐบาลและ คสช. กำลังเริ่มนับถอยหลัง โรดแมปของ คสช.เองเดินหน้าเข้ามุ่งไปสู่การเลือกตั้งในราวปี 2561 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนว่าถนนทุกสาย ต่างมุ่งหน้าเข้าหา คสช.และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเชื่อว่าหากเรื่องใหญ่ๆ ทำไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ก็แทบไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลไหนได้อีก ทั้งการปฏิรูประบบราชการตำรวจ, การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่เรียกว่า เป็น "ชนวน"ที่ทำให้รัฐบาลต้องหันมารับมือกับความเคลื่อนไหวจากหลายต่อหลายฝ่าย สืบเนื่องมาจาก "ความเปลี่ยนแปลง"กำลังจะมาเยือน โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ที่มี "พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)โดยจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่12 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย(บก.ทท.) ถ.แจ้งวัฒนะ ความฮือฮา ของการปฏิรูปตำรวจนั้นไม่ใช่แค่เพียงการที่รัฐบาลส่ง "บิ๊กทหาร" อย่าง พล.อ.บุญสร้าง เข้ามาคุมการเปลี่ยนแปลงในแวดวงตำรวจ หรือการใช้สูตรพิเศษ "2-3-4" นั่นคือ 2 เดือนแรกคุยเรื่องปัญหาทั้งหมด 3 เดือนอ่านงานวิจัยเก่าๆ ให้หมด และ 4 เดือนต้องยกร่างกฎหมาย กำหนดกฎเกณฑ์ กติกาให้เสร็จ และรับฟังความคิดเห็น หากแต่ประเด็นที่เกิดเป็นคำถามว่าด้วยการปฏิรูปตำรวจนั้น ยังถูกผูกติดเอาไว้กับเรื่องของ "ความเชื่อมั่น" จากสังคม ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และระยะเวลา 9 เดือนที่วางกรอบการทำงานกันเอาไว้นั้นจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเรื่องใดได้บ้าง นอกจากนี้ ยังต้องไม่ลืมว่าขณะเดียวกัน จะเกิดแรงต้าน เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งตามมาด้วยหรือไม่ ระหว่างที่ รัฐบาล และ คสช.กำลังหาทางรับมือกับปัญหารอบด้านอยู่นั้น ปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวจาก ฝั่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"อดีตนายกฯ ที่ตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวได้หันมาสู้ต่อ ไม่ยอมเป็นฝ่ายยอมรับคำพิพากษาโดยไม่ต้องดิ้นรน ล่าสุดทีมทนายของยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีของศาลว่าเป็นการขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามมาตรา 235 วรรคหก ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงขอให้ศาลฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งนี้โดยองค์คณะฯ ได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในนัดหน้า 21 ก.ค.นี้ ว่าจะให้ส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเรียกว่าศึกนอกที่โถมเข้าใส่คสช. และรัฐบาลในช่วงเข้าโค้งนับถอยหลัง นั้นล้วนแล้วแต่ต้องการทดสอบความแข็งแกร่งของ คสช.ไปพร้อมกับหยั่งท่าทีว่าจากนี้ หากคสช.คิดจะอยู่ยาว จะต้องเผชิญกับเผือกร้อน เรื่องใดที่ยังรอการสะสางอีกบ้าง !?