แก้วกานต์ กองโชค เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศ (ส.ส.ท.)ได้เปิดให้ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย คนใหม่ 2 คนสุดท้าย คือ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเนชั่นบรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน และรศ.วิลาสินี พิพิธกุล  อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ในสมัยของ นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีต ผอ.ส.ส.ท. เข้าแสดงวิสัยทัศน์ โดยมี รศ.จุมพล รอดคำดี เป็นประธานกรรมการนโยบายฯ ส.ส.ท.   ผลปรากฎว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายมีมติเลือก "รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล" เป็น ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุมจากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ที่เข้าจำนวน 7 คน คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.มีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย 1) รศ. จุมพล รอดคำดีประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบายด้านการบริหารจัดการองค์กร 2) รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐกรรมการนโยบายด้านการบริหารจัดการองค์กร 3) นาง ลดาวัลย์ บัวเอี่ยมกรรมการนโยบายด้านการบริหารจัดการองค์กร 4) นาย พิเชฏฐ พัฒนโชติกรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนฯ 5) นาย ไพโรจน์ พลเพชรกรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนฯ 6)รศ.ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์กรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนฯ 7) นาย สุรพงษ์ กองจันทึกกรรมการนโยบายด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนฯ 8)นาย พิพัทธ์ ชนะสงคราม กรรมการนโยบายด้านกิจการสื่อสารมวลชน 8)นางสาว รุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการนโยบายด้านกิจการสื่อสารมวลชน กรรมการ 2 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมการสรรหาครั้งนี้คือ นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม และรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชประเสริฐ เพราะผลการคัดเลือกได้รับการท้วงติงจากนักกฎหมายว่า กระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ปัจจุบัน รศ.ดร.วิลาสินี อายุ 52 ปี จะรับตำแหน่งต่อจาก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ซึ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท.เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2560 เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีซื้อหุ้นกู้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) รศ.ดร.วิลาสินี เป็นนักวิชาการด้านสื่อและสตรีศึกษา และดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส ระหว่างปี 2559-2560 ในยุคของนายกฤษดา เคยเป็น ผู้อำนวยการอาวุโส สสส. และรองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นทำให้ชื่อของ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น ถูกตีตกไป รศ.ดร.ณรงค์ ให้เหตุผลการไม่เข้าร่วมประชุมว่า “ขั้นตอนการสรรหาไม่ถูกต้อง และคุณสมบัติของผู้สมัคร ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับคดีทั้ง 2 คน ซึ่งไม่น่าจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเข้ารับการสรรหา” สำหรับนายพิพัทธ์ ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายเมื่อวันที่ 5 ก.ค.นี้ ขอให้ทบทวนและแก้ไขกระบวนการสรรหา โดยระบุว่า เหตุผลว่าการพิจารณากลั่นกรองไม่ถูกต้อง และให้ตรวจสอบประวัติของผู้สมัครสรรหา รวมทั้งต้องการขอความเห็นประกอบว่าควรให้คณะกรรมการสรรหาเสนอความเห็นประกอบผู้เข้ารับการสรรหาทุกคนที่ผ่านและไม่ผ่านการคัดเลือก สรุปความเห็นประกอบให้ชัดเจนในแต่ละคน ประเด็นเรื่องกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง ถูกตอกย้ำด้วยความคิดเห็นทางกฎหมายของ “แก้วสรร อติโพธิ” อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะกรรมการธรรมาธิภาลในองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอสได้ตอบข้อหารือของนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบายถึงกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสโดยมีความเห็นว่า ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ เนื่องจาก “ตามข้อบังคับของไทยพีบีเอสกําหนดให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่ “กลั่นกรอง” ผู้สมควรรับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการนโยบาย โดยกําหนดว่าต้องมีการรับสมัครและเสนอชื่อได้ไม่เกิน 5 คน โดยข้อขังคับนี้ผู้สมัครทุกคนต้องมีสิทธิ์ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสรร หาว่า ตัวเขาสมควรแก่ตําแหน่งหรือไม่ก่อน ซึ่งต้องเป็นการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ดังนั้นการที่คณะกรรมการสรรหาไปใช้วิธีโหวตให้กรรมการแต่ละคนเลือกมาสองคน แล้วเอาคะแนนที่แต่ละคนได้มารวมกัน จึงเป็นโหวต “คัดออก” หาใช่โหวตกลั่นกรองแต่อย่างใดไม่” “ที่ถูกต้องนั้นคณะกรรมการสรรหาต้องตรวจสอบข้อมูลฟังวิสัยทัศน์แล้วโหวตเป็น รายบุคคลไปว่าจะรับรองผู้สมัครนั้นหรือไม่ หากผู้ใดได้คะแนนเกินเกณฑ์กําหนดเช่น กึ่ง หนึ่งขึ้นไป ก็ถือว่าผ่านการกลั่นกรองให้เสนอชื่อได้ จากนั้นถ้าใน 7 คนที่สมัครมานี้ผ่านการกลั่นกรองมาเกิน 5 คน ตรงนี้จึงจะเป็นการโหวตตัดออก เช่น ให้ทุกคนเลือกมา 5 คนแล้วเอาคะแนนมารวมกันเรียงจากลําดับที่ 1 ถึง 5 ก็จะได้ผู้สมควรแก่ตําแหน่งมาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายโดยถูกต้องในที่สุด” “แก้วสรร” ยังชี้ชัดลงไปอีกว่า “นี่เป็นปัญหาความถูกต้องจะใช้เสียงข้างมากมายุติไม่ได้” ดูเหมือนว่า เก้าอี้เบอร์หนึ่งของไทยพีบีเอสที่มีผลตอบแทน 3 แสนบาทต่อเดือน...อาจจะไม่จบลงง่ายๆ