แม้ล่าสุด "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาปฏิเสธตรงไปตรงมาแล้วว่า "ไม่มีปฏิวัติ" ก็ตามที แต่ดูเหมือนว่า กระแสที่ว่าอาจจะเกิดปฏิวัติ รัฐประหาร ยังคงสะพัด ไม่หยุดหย่อน !
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อ "บิ๊ก" ระดับ "บิ๊กป้อม" ออกมาปฏิเสธ ผ่านสื่อเช่นนี้ ข่าวลือก็น่าจะที่จะจบ เพราะอย่าลืมว่า สถานะของ "พี่ใหญ่" คนนี้เป็นทั้ง รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล นั่งถึงสองเก้าอี้หลักในคราวเดียวกัน
การให้ความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง ที่กำลังเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความขัดแย้ง จาก "สนธิ ลิ้มทองกุล" อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้กลายเป็นจุดประเด็นที่ชัดเจน มากไปกว่าการร่ำลือในวงสนทนา ทางการเมือง เพื่อตอกย้ำว่าเรื่องการทำรัฐประหารนั้น ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น
สนธิ ได้ให้ความเห็นผ่านแพลตฟอร์มรายการข่าว เมื่อหลายวันที่ผ่านมา โดยเชื่อว่า ที่สุดแล้วคงมีแต่หนทางการทำรัฐประหารโดยกองทัพเท่านั้น จากนั้นให้มีการถวายคืนพระราชอำนาจให้กับในหลวง รัชกาลที่ 10 โดยสนธิเชื่อว่านี่คือการเปิดทางไปสู่การตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ"
แต่มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลแห่งชาตินั้นจะต้องไม่มี "ทหาร" สักคนเดียวเข้ามาร่วม และที่สำคัญ นายกฯคนใหม่ จะต้องไม่ใช่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโหม จากนั้นจึงค่อยมาคุยกันว่าประเทศจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยที่ในรัฐบาลแห่งชาตินั้นให้มี "ตัวแทน" จากแต่ละพรรคการเมือง แต่ละกลุ่มบุคคล
แน่นอนว่าการออกมาแสดงความเห็น ของสนธิ ครั้งนี้ย่อมได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะในอดีตสนธิ เคยถือธงนำม็อบเสื้อเหลือง ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนไล่มาถึงสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จนถึงช่วงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก่อนจบลงที่การยึดอำนาจโดยคณะนายทหาร
สถานการณ์การเมืองในบ้านเราวันนี้ ดูจะไม่มีทางออกอื่นใด เพราะแม้นายกฯจะไฟเขียวให้มีการระดมความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา ถึง2 วัน2คืนผ่านวาระการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 27-28ต.ค.ก่อนจบลงที่การเสนอให้ตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์" ดึงทุกฝ่ายเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา
แต่สุดท้ายกลับมีท่าทีที่ชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านว่า "ไม่ร่วมสังฆกรรม" เพราะนี่คือ "เกม" ที่ฝ่ายรัฐบาล ต้องการแค่ "ซื้อเวลา" ทอดระยะความขัดแย้งออกไปเท่านั้น
เมื่อรัฐบาล และกลไกนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจกวักมือเรียก "ฝ่ายค้าน"โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่มีความเชื่อมโยงทั้งทางตรง และทางอ้อมกับ "คณะก้าวหน้า" ไปจนถึงการออกตัวสนับสนุนการชุมนุมเคลื่อนไหว ของกลุ่มเยาวชน ในนามคณะราษฎร จึงยิ่งสะท้อนว่า โอกาสที่จะได้เห็น การเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายหางออกร่วมกัน บนพื้นฐานของความปรองดอง สมานฉันท์ ได้กลายเป็นเหมือน "ประตู" ที่กำลังถูกปิดลง
ขณะที่การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ ของกลุ่มผู้ชุมนุม กลับยกระดับ ลามไปถึง "สถาบัน"อย่างจงใจ จนกลายเป็นการจุดไฟขึ้นในสังคม เพราะอย่าลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นสิ่งที่คนไทย รักและเทิดทูน
แม้การชุมนุมของคณะราษฎร จะยังไม่ถึงขั้นก่อการจลาจลขึ้น ด้วยการเผา ทำลายสถานที่ต่างๆ แต่ทว่าการเปิดหน้า ขยายแนวคิดจาบจ้วงสถาบันกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังบีบให้บรรยากาศและออกทางจากวิกฤติครั้งนี้ยากลำบากมากขึ้นทุกขณะ
ดังนั้นจึงอย่าได้แปลกใจที่ หลายคนจะได้กลิ่นปฏิวัติรัฐประหาร โชยมาอีกรอบ !