วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันลอยกระทงตามประเพณีที่สืบต่อกันมา เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่ทรงไปแสดงธรรมในนาคภิภพ และประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที และยังได้แสดงความสำนึกในพระคุณของน้ำ และขอขมาพระแม่คงคาที่เราได้ใช้น้ำในการดำรงชีวิต
แม้ปัจจุบัน การลอยกระทงจะมีแง่มุมของเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุทำกระทงที่ย่อยสลายง่าย และเป็นอาหารของสัตว์น้ำ หลีกเลี่ยงการใช้โฟม หรือแม้กระทั่งหันไปการลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น
กระนั้น อีกหนึ่งความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ก็คือ ตัดเล็บ ตัดเส้นผม หรือเศษเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว บ้างก็ใส่เงินลงไปในกระทงด้วย เพื่ออธิษฐานขอพรจากพระแม่คงคา ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้พ้นทุกข์โศก โรคภัยต่างๆ และให้มีความสุข ร่ำรวยเงินทอง
ในช่วงที่ผ่านมา ทุกข์ของประเทศไทยที่กลายเป็นประเทศอมโรคความขัดแย้ง ที่เรื้อรังมานาน 15 ปี เป็นทุกข์จากความขัดแย้งนี้ ส่งผลกระทบไปในวงกว้างและลงลึกลงไปทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติการเมืองในปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากการแก้ปัญหาแบบไม่สะเด็ดน้ำ ทำให้ยังหมักหมมอยู่ใต้พรม จนถูกรื้อขึ้นมาใหม่
ในความเห็นของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ที่ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กระบุว่า ได้ให้ข้อคิดเอาไว้ว่า อย่าไปคิดว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มาไกลจนเลยจุดที่สามารถพูดคุย หรือหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว และควรตระหนักว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิดได้ นอกจากจะพูดคุยกัน และใช้วิธีการทางประชาธิปไตยในการระงับข้อขัดแย้ง
โดยวิธีการแรกที่ควรทำคือ การใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ โดยควรให้บทบาทหลักแก่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน ในการหาทางออกร่วมกันให้แก่สังคม
หากไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปควรทำคือการกลับไปถามประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ผ่านการทำประชามติ เหมือนการทำประชามติเรื่อง “เบร็กซิต” ของคนอังกฤษ แต่ไม่ว่าจะทำประชามติหรือไม่ ควรมี “การพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ” ควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยมีบุคคลหรือคณะบุคคลที่ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันให้การยอมรับ เป็นตัวกลางในการพูดคุย
เราเห็นด้วย กับวิธีการข้างต้น นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า รากเหง้าของความขัดแย้งในสังคมไทย มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือความเคลือบแคลงที่มีต่อการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อันเป็นที่มาของคำว่า “สองมาตรฐาน”
ดังนั้นหากจะตัดเคราะห์ ตัดกรรม ลอยทุกข์ของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ก็จะต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร้ความเคลือบแคลง
อย่างไรก็ตาม วันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันฮัลโลวีน หรือวันปล่อยผี เป็นเทศกาลของชาวตะวันตก ที่บ้านเราก็เปิดรับเอาวัฒนธรรมนี้มา ในทุกปีก็มีกิจกรรมแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจกันออกไปสังสรรค์กันเป็นที่สนุกสนาน หวังว่าประเทศไทยจะพ้นเคราะห์พ้นทุกข์โศก และจับผีลงหม้อถ่วงน้ำไปอย่าให้กลับมาหลอกหลอนประเทศไทยอีกเลย