ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 เท่านั้นที่ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ แต่ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ก็โหมกระหน่ำไม่แพ้กัน ดัชนีสำคัญ เห็นได้ช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้าเทศกาลได้มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่คึกคัก เพราะประชาชนแห่รัดเข็มขัด กระนั้นเมื่อบรรยากาศอึมครึมทางการเมือง มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมจัดเวลทีปราศรัยดาวกระจายไปตามย่านธุรกิจต่างๆ ยิ่งส่งผลให้เทศกาลกินเจหงอยเหงา เพราะกังวลถึงความไม่แน่นอน และในอนาคต
ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวยังคงมีจำกัดจากภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และภาวะการจ้างงานที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ที่กำลังทยอยสิ้นสุดลง จึงต้องจับตาว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้นี้อย่างไร
โดยการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ล่าสุดมีปัจจัยเพิ่มที่ต้องจับตาคือสถานการณ์การเมือง การชุมนุมที่เริ่มบานปลายหลายกลุ่ม ระบาดไม่ต่างกับโควิด-19
อีกด้านหนึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด พบว่า
1. คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยส่วนมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต
2. นอกจากนี้ คนไทยเป็นหนี้นาน โดย 80% ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณ 80% ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธปท. จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวด้วยว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ มีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
กระนั้น กรณีที่พบผู้ป่วยหญิงชาวฝรั่งเศสอายุ 57 ปีที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่พบว่าเป็นการติดเชื้อจากภายในประเทศ ทำให้ความวิตกกังวลว่าจะเกิดการระบาดซ้ำ ซึ่งอาจไม่สามารถหวนกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์เช่นก่อนหน้านี้ได้ ดูเหมือนว่าทั้งโควิด-19 และการเมืองที่ผันผวน กำลังทำร้ายเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหนาสาหัส