การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อหาทางออกประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา165 ใช้เวลาผ่านไปแล้ว 2 วัน2 คืน แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ไม่เป็นใจนักสำหรับ "พรรคฝ่ายค้าน" เมื่อฝ่ายรัฐบาลผนึกกับ "สว." พลิกเกมกลับมาเป็นฝ่าย "ถล่ม"จนทำให้ "ขุนพล" ที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยวางเอาไว้ กลายเป็นฝ่าย "นั่งฟัง" แทน ทั้งประเด็นที่ว่าด้วยการเชื่อมโยงเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลา 2519 กับเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 งานนี้ "วิโรจน์ ลักขณาอดิสร" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ยกคำว่า "ทุ่งสังหาร" ขึ้นมาพูดกลางสภาฯ ต้องเป็นฝ่ายนั่งฟังการชี้จาก "ถวิล เปลี่ยนศรี" สว. และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากทั้งถวิล และสาทิตย์ ต่างมีหน้าที่อยู่ในช่วงเวลาการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยสวนกลับว่า ไม่มี "ทุ่งสังหาร" เกิดขึ้น และที่สำคัญ อย่าเปรียบเทียบการชุมนุม 6 ตุลา 19 ที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่การชุมนุมโดยคณะราษฎร ในครั้งนี้กลับพบว่าผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องที่ไกลเกินกว่า จี้ให้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลาออก หากแต่มองเลยไปถึงการปฏิรูปสถาบัน อย่างไรก็ดี การชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ขับไล่นายกฯ โดยม็อบคณะราษฎร ที่ขยับไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อสถานฑูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา แน่นอนว่าวันนี้จำนวนผู้ชุมนุมมีมากอย่างเห็นได้ชัดในการนัดหมายชุมนุมในแต่ละครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้ "แกนนำ" และ "กองเชียร์" ผิดหวัง แต่เมื่อจนถึงวันนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลเองก็มีความชัดเจนเช่นกันว่า 1. พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศแล้วว่า "ไม่ลาอก" 2. ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบัน จะไม่มีทางการเกิดขึ้น หมายความว่า เป้าหมายที่กลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนเรียกร้องอยู่นอกสภาฯ จะไม่ได้รับการสนองตอบ อย่างไม่ต้องสงสัย มิหนำซ้ำ ล่าสุดรัฐบาลยังเสนอให้ตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์" เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุม และ "พรรคฝ่ายค้าน" พึงพอใจนัก เมื่อเกมในสภาฯ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ไม่สามารถ "กดดัน"รัฐบาลลงได้ ขณะที่เกมการกดดันบนท้องถนน ผู้ชุมนุมเองก็ยังทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลาออกไม่สำเร็จ จึงทำให้หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่า ที่สุดแล้วเมื่อต่างฝ่ายต่างดึงดัน ยื้อยุด เหมือนเล่นชักคะเย่อกันอยู่อย่างนี้ รัฐบาลเหมือนจะถอย แต่กลับยังไม่ถอยจริง ส่วนผู้ชุมนุมที่นำหน้าโดยคณะราษฎร เองก็เริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า เป้าหมายจะบรรลุเมื่อไหร่ ดังนั้น การต่อสู้ของม็อบคณะราษฎรจากนี้ไปเมื่อขยับไปดึง ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองในไทย ด้วยการไปยื่นข้อเรียกร้องต่อสถานฑูตเยอรมันแล้ว สเต็ปต่อไปคือการ "ยกระดับ" ประเด็นและข้อเรียกร้องให้เข้มข้น และรุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นมา เพราะอย่าลืมว่า วันนี้ "ธง" ของข้อเรียกร้องนั้นไกลเกินกว่าต้องการได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ดังนั้นหากไม่เพิ่มยาแรง ยกระดับการชุมนุมให้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว โอกาสได้ชัยชนะอาจจะยิ่งลอยห่างออกไปทุกที !