ภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ขอให้ “ถอยกันคนละก้าว เข้าสภา ใช้สติและปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน” และตามมาด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. จากเดิมที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม - วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ก่อนหน้านี้บนเวทีเสวนา เรื่อง “ข้อเสนอการแก้วิกฤตการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน” นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุค 14 ตุลาฯ 2516 เสนอทางออกต่อวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยขอให้ใช้พระราชบัญญัติอภัยโทษเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในครั้งนี้ กระนั้น ปัญหาที่สั่งสมในสังคมไทยมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ยังไม่ได้รับการชำระสะสาง ผลการศึกษาของคณะกรรมการเกี่ยวกับแนวทางการนิรโทษกรรม และปรองดองทางการเมืองหลายคณะยังเก็บไว้บนหิ้ง โดยไม่มีการนิรโทษกรรมและปรองดองเกิดขึ้นจริง ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายคำนุณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาออกมาเสนอให้ตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ยังจบได้ ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้อภัย เปิดโอกาสให้พลังทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาชาติไทย ขณะที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. ได้แสดงความเห็นผ่านผู้สื่อข่าว ในโอกาสวันครบรอบวันเกิด 74 ปีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เรื่องความปรองดอง หากทำกันจริงจังสามารถเกิดขึ้นได้ โดยให้คนที่มีความคิดต่างในแต่ละกลุ่มหันหน้ามาร่วมกัน แต่หากเป็นความผิดพลาดทางการเมืองที่เกิดจากความเห็นต่าง แล้วฝ่ายปกครองบอกว่าผิดกฎหมายและติดคุก อันนี้ต้องนิรโทษกรรม หรือการให้อภัยกับคนที่มีความคิดและความแตกต่างทางการเมือง แต่ก็ต้องแยกกันหากเป็นคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ศึกษาไว้มีข้อเสนอให้เกิดการปรองดองคือ การนิรโทษกรรม โดยในรายงานระบุว่าก่อนจะมีการนิรโทษกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลายประการ ทั้งในด้านการอำนวยความยุติธรรม และการดำเนินการในด้านอื่นๆ เช่น การเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผล กระทบทุกกลุ่มทุกฝ่าย การเปิดเวทีให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้สื่อสารกับสังคม การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรม การสร้างโอกาสและสภาวะให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทุกฝ่ายกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งนี้การนิรโทษกรรมสำหรับคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนี้ สามารถดำเนินการได้โดยอาศัยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือจะตรากฎหมายนิรโทษกรรม กระนั้น มาถึงจุดนี้ที่รัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมทางการเมืองได้วัดกำลัง ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝ่ายจะต้องพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรมกันอย่างจริงจัง ไม่ตั้งแง่สร้างเงื่อนไขแก่กันและกัน เร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลขึ้นก่อนจะสายเกินไป