ทองแถม นาถจำนง ๐ สักรวาเข้าพรรษาในครานี้ ประเพณีมีรู้อยู่กันทั่ว นักเลงเหล้างดเหล้าเลิกเมามัว นักเลงชั่วเว้นชั่วกลัวบาปกรรม หากนักโทษนักกินสิ้นทั้งหลาย อีกดาวร้ายดาวบ้อมซ้อมคนคว่ำ จะงดเว้นกรณีย์ที่เคยทำ เป็นประจำพรรษานี้คงดีเอย ฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช (หมายเหตุ : ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านใช้คำว่า “สักรวา”) ถึงฤดูฝนกันแท้ ๆ เสียที ที่ว่า “ฤดูฝนแท้” ก็หมายถึงฤดูฝนมีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์สมัที่ฤดูกาลยังเป็นไปตามปกติธรรมชาติดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้กิจกรรมของมนุษย์เรา ส่งผลกระทบกระเทือนถึงธรรมชาติมากเหลือเกิน จนกระทั่งฤดูกาลก็ไม่อยู่กับร่องกับรอยเก่าเสียแล้ว ฟ้าฝนบางทีก็ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ร้อนหนาวก็รุนแรงผิดสถานที่ผิดเวลากันบ่อย ๆ ฤดูฝนเป็นช่วงแห่งการผลิตเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหาร สมัยโบราณในอินเดียใต้และเอเชียอาคเนย์เราเพาะปลูกทำนาข้าวเป็นวิถีการผลิตหลัก ภิกษุสงฆ์ในยุคโบราณท่านอยู่ป่า และ “ขอทาน” ท่านต้องนำพาตัวเองให้ข้ามห้วงทุกข์ พร้อม ๆ กับสั่งสอนคนอื่นให้กระทำกรรมดี จึงต้องเดินทางไปเรื่อย ๆ แต่ในฤดูฝนการเดินทางบางทีก็ไปเหยียบย่ำแปลงปลูกธัญพืชของเกษตรกร พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ในฤดูฝน ในประเทศไทยเรียกว่า “เข้าพรรษา” ซึ่งต่อมาชายไทยก็เกิดความนิยม “บวช” ในช่วงเข้าพรรษา เป็นการลบวช-เรียน มิใช่ กวดให้สุกอย่างทุกวันนี้ การบวชในทงศานานั้นเป็นเรื่องใหย่นะครับ ถือเป็นการ “เกิด” ใหม่ แล้วต้องเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิต เริ่มตั้งแต่การแต่งกายเลยทีเดียว ภาษาปาก ก็เรียกกันว่า “ห่มผ้าเหลือง” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนถึง “ผ้าเหลือง” ไว้ดีมากดังนี้ “ผู้เขียนเรื่องนี้เผลอไปประเดี๋ยวเดียว มารู้สึกตัวเอาก็เกือบจะเข้าพรรษาไปอีกแล้ว นับว่าวันคืนเดือนปีล่วงไปเร็วหนักหนา เฉพาะปีนี้ เด็กซึ่งเคยอุ้มและเคยเห็นแก้ผ้าวิ่งเล่นมานั้น ได้มาลาบวชหลายคนอยู่ คิด ๆ ไปแล้วก็ใจหาย เพราะความรวดเร็วของเวลาที่ล่วงเลยไป แต่เมื่อคิดดูในทางที่กุลบุตรจะเข้ารับกำเนิดใหม่อีกหนหนึ่งในพระศาสนาก็อดที่จะปีติยินดีไม่ได้ ในเทศกาลเข้าพรรษาที่จะมาถึงเร็ว ๆ นี้ คนที่จะรับเอาผ้าเหลืองมาห่อหุ้มตัวเป็นหนแรกในชีวิต คงจะมีเป็นอันมากในเมืองไทยเรานี้ ความจริงผ้าไตรจีวรที่จะได้ครองกันตลอดพรรษานั้น ถ้าจะดูด้วยตาเปล่า ก็ไม่เห็นว่าอัศจรรย์อย่างไร เพราะเป็นผ้าธรรมดาย้อมสีเหลือง ซึ่งถ้าไม่เอามาตัดเย็บเป็นรูปอย่างที่กำหนดไว้ ก็อาจใช้ไปในทางอื่นได้อีกมามายหลายอย่าง แต่ผ้าธรรมดานั้นเองเมื่อเอามาตัดเย็บตามแบบที่กำหนดไว้สองพันกว่าปีมาแล้ว และย้อมให้เป็นสีเหลือง ก็กลับกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนที่ถูกผ้านั้นหุ้มห่ออยู่ได้อย่างน่าพิศวงที่สุด ผ้าเหลืองสามผืนที่เป็นเครื่องหมายของความมักน้อย ไม่สุรุ่ยสุร่ายนั้นเอง หากใครได้ลองใช้ดูแล้ว จะเห็นว่า เป็นผ้าที่ชักจูงและนำออกมาซึ่งของดีในตัวทั้งหมดที่มีอยู่ ธรรมดาเสื้อผ้าชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบใด ๆ หรือเครื่องแต่งกายใด ๆ ขณะที่หามาได้หรือสวมใส่เข้ากับกายนั้น ทุกคนจะต้องคำนึงถึงความสวยงามบ้างไม่มากก็น้อยเป็นปกติ และเสื้อผ้าธรรมดานั้น ถ้ามีชุดหนึ่งแล้ว ก็คงจะต้องมีมากกว่านั้นขึ้นไป สำหรับใช้ในโอกาสต่าง ๆ กันเพื่อความเหมาะสม แต่ฟ้าเหลืองที่พูดถึงนี้ ใช้ได้ในทุกโอกาส หากมีครบเพียงสามผืนก็พอแก่ความแระสงค์จริง ๆ และทุกคนที่เคยบวชก็จะต้องรู้ดีว่า ขณะที่ครองผ้าและม้วนจีวรให้รัดกุมนั้น สิ่งที่ห่างไกลจากใจเป็นที่สุดก็คือความสวยงามโออ่าเพื่ออวดคนอื่น ความปรารถนาอย่างเดียวในการครองผ้านั้นก็คือความเรียบร้อยสุภาพ ไม่อุจาด ซึ่งดูจะเป็นความประสงค์ที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด สำหรับการแต่งกายทุกชนิด ผ้าเหลืองนั้นทำใจให้มัธยัสถ์เสียตั้งแต่เบื้องแรกที่หยิบมาปกคลุมตน และถ้าจะพูดถึงทางด้านความสะอาดแล้ว ผ้าเหลืองแต่ละผืน ไม่ว่าจะเก่าแก่คร่ำคร่าเพียงใดก็ดูจะมีความสะอาดอยู่ในตัวเองมากกว่าผ้าชนิดอื่น ๆ เพราะผ้าเหลืองนั้นมิใช่จะสะอาดแต่เนื้อผ้า แต่ทำใจให้สะอาดไปด้วย ทั้งนี้จะสังเกตเห็นได้จากใจของเราเอง ขณะที่เป็นฆราวาส มิได้นุ่งห่มผ้าเหลืองนั้น เวลาเดินตามถนนหนทางจะมีของหลายอย่างที่ดึงดูดตัวเข้าไปใกล้แล้วก็ถอนตัวกลับไม่ไหว ติดอยู่ในที่เหล่านั้นหรือกับสิ่งเหล่านั้น ชีวิตต่อไปก็ไม่น่าที่คนอื่นจะต้องอิจฉานัก แต่ในขณะที่เราบวชเป็นพระมีผ้าเหลืองหุ้มห่อตัวอยู่ ผ้าเหลืองนั้นเองเป็นสิ่งคุ้มครองป้องกันทำให้เราหลีกจากสิ่งนั้น ๆ ไปไกล ผู้เขียนเองเมื่อบวชนั้น มิได้อยากผ่านสถานที่บางแห่ง ซึ่งเมื่อเป็นฆราวาสมักจะไปมั่วสุมอยู่บ่อย ๆ หรือเป็นประจำเลย ถ้าจำเป็นต้องผ่านจริง ๆ ก็ต้องเดินเสียทางอีกฟากถนนหนึ่งให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ การวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ผลิตสิ่งหุ้มห่อสินค้าต่าง ๆ ให้พ้นจากฝุ่นละอองและของโสโครก ผ้าเหลืองนั้นดูเหมือนจะเป็นวัตถุชนิดเดียวกัน แต่มีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่า เพราะเป็นเครื่องหุ้มห่อใจให้พ้นของโสโครกได้อีกด้วย ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คงจะได้เห็นภาพหรือได้ดูภาพยนตร์เกี่ยวกับงานราชาภิเษกพระราชินีอังกฤษมาแล้ว ท่านคงจะได้เห็นพระฝรั่งแต่งการหรูหรางดงามเต็มที่ ไม่แพ้พระจีนแต่งกายเวลาประกอบพิธีกงเต็ก ทั้งนี้เป็นไปตามแบบที่ต่างกันด้วยลัทธิ และต่างกันด้วยความคิด และถ้าจะเปรียบกับผ้าเหลืองของพระไทยในด้านความสวยงาม ก็จะเห็นว่า เราแพ้ของเขาหลุดลุ่ยทีเดียว แต่มีข้อควรคิดว่า เครื่องแต่งกายอันสวยงามนั้นเป็นสิ่งที่แต่งได้เฉพาะพิธี พระผู้แต่งกายเช่นนั้นจะรู้สึกละอายถ้าหากว่าจะเอามาแต่งเป็นประจำทุกวี่ทุกวันและทุกโอกาส ผิดกันกับผ้าเหลืองซึ่งครองอยู่ได้ตลอดมา เมื่อเครื่องแต่งกายโอ่อ่านั้นเป็นแต่เพียงออกชั่วคราวเฉพาะงานเต็มยศ ทั้งพระฝรั่งและพระจีนก็ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งการยามปกติไปเรื่อย ๆ พระฝรั่งเดี๋ยวนี้ก็แต่กายแบบเหมือนฆราวาส จะสังเกตได้แต่เพียงคอลลาร์ซึ่งเป็นสีขาว และเป็นวงกลมสวมรอบคอ เป็นเหตุให้ชาวบ้านฝรั่งทั่วไปเรียกกันว่า “ปลอกคอหมา” (Dog Collar) ซึ่งฟังดูเป็นภาษาไทยก็น่ารังเกียจอยู่ และพระจีนนั้น ท่านก็นุ่งกางเกงสวมเสื่อกุยเฮงอย่างฆราวาส ผิดกันแต่ที่ว่าย้อมสีเหลืองและพาดสังฆาฏิ เพราะมาอยู่ในเมืองไทย หากอยู่ในแผ่นดินจีนท่านก็แต่งตัวแบบฆราวาสเช่นเดียวกัน จะผิดกันก็แต่โกนศีรษะ ซึ่งคนจีนส่วนใหญ่ก็นิยมโกนอยู่ ดูเครื่องแต่งกายของพระอื่น ๆ แล้ว ก็เห็นว่าจะเข้ากับตำรับผ้าเหลืองห้อยหูที่คนโบราณพูดกันมา แต่ผ้าเหลืองของพระไทยดูจะยังไม่มีทางเป็นไปเช่นนั้นได้เลย เพราะบริสุทธิ์สะอาดปราศจากความหรูหราโอ่อ่ามาเสียแต่แรก เป็นเครื่องแบบมาตรฐานที่มีหลักการ มีวัตถุประสงค์ควรแก่ผู้เจริญแต่งได้ในทุกเวลาและทุกโอกาส เป็นเครื่องแบบอันแรกของโลกและมีหวังว่าจะอยู่ไปเป็นอันสุดท้าย”