สมบัติ ภู่กาญจน์ คำตอบของอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่พยายามบอกผู้อ่านให้ทราบถึงเหตุผล ในการที่จะตอบ/หรือไม่ตอบปัญหา ที่ผู้อ่านเขียนถามมา ซึ่งผมนำส่วนหนึ่งลงไปในตอนที่แล้วยังไม่จบ ยังมีคำอธิบายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ “ค. เรื่องสถานที่ หรือที่มาแห่งปัญหา เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญ เพราะปัญหาแต่ละวันนั้น มีมาจากทุกมุมเมือง ทั่วประเทศ ผมจำเป็นต้องคอยเฉลี่ยตอบให้ได้ทั่วๆกัน คือภาคกลางบ้าง เหนือบ้าง อีสานบ้าง และใต้บ้าง ส่วนผู้ถามปัญหานั้นเป็นเด็กก็มี ผู้ใหญ่ก็มี ผู้หญิงก็มี ผู้ชายก็มี ตลอดจนพระสงฆ์องคเจ้า ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผมอีกที่จะต้องเฉลี่ยตอบไปให้ทั่วถึง ด้วยเหตุผลต่างๆที่กล่าวมานี้ ผมจึงต้องถือโอกาสขออภัย แก่ท่านผู้ถามปัญหาบางท่านที่ถามมาแล้วไม่ได้รับคำตอบ แต่ขอยืนยันว่า ผมอ่านปัญหาที่ท่านเขียนมาถามทุกฉบับ ด้วยความเห็นใจ และระลึกถึงบุญคุณของทุกท่านที่ได้เขียนปัญหามาถามเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากปัญหาจำนวนมากมายที่ท่านได้เมตตาเขียนถามมานี่เอง ที่ทำให้ผมได้รู้จักเมืองไทยดีขึ้นกว่าที่ได้เคยรู้จักมาแต่ก่อน และดีกว่าคนอีกหลายคน ที่มิได้มีโอกาสมานั่งตอบปัญหาเช่นผม ประโยชน์ที่ผมได้รับนั้น มีค่าเกินกว่าที่จะประมาณได้ และจะไปหาจากที่ไหนอื่นอีกก็คงไม่ได้แล้ว จึงหวังว่าท่านจะยังคงส่งปัญหามาอีกวันละมากๆ อย่างที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ แล้วผมจะพยายามตอบให้ดีที่สุดและให้ทั่วถึงที่สุด เท่าที่จะทำได้ ( ลงวันที่ 6 กันยายน 2494 ลายเซ็น คึกฤทธิ์ ปราโมช ) ทั้งหมดนี้แหละครับ คือตัวอย่างของการสื่อสารสองทาง ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่าง ‘ผู้ส่งสาร’และ ‘ผู้รับสาร’ ที่คนทำสื่อชื่อคึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ทำไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ทุกวันนี้ เรามี‘สื่อ’มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งสื่อที่มีอยู่ในโลกยุคเก่าซึ่งยังรอดตายอยู่มาได้จนถึงโลกยุคใหม่ และสื่อในโลกยุคใหม่สดๆร้อนๆที่เกิดขึ้นและกำลังพัฒนาขึ้นทุกวัน จะมีใครตระหนักบ้างไหมว่า ‘การเรียนรู้ร่วมกัน’ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการสื่อสารนั้น เราจะพยายามทำให้เกิดมีมากขึ้นหรือทันสมัยขึ้น ได้ด้วยวิธีใด? และจะมีใครสนใจบ้างหรือไม่ ว่า ขณะที่คนรุ่นเก่าส่วนหนึ่ง ยังคง ‘ใช้งาน-ใช้อารมณ์’กันอยู่ในสื่อยุคเก่า อย่างที่ต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าความคิดของตนถูกความคิดของตนดี นั้น คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ เขาก็ใช้สื่อยุคใหม่ ‘สนองความรู้-และอารมณ์’ของเขา ไปอย่างมีความสุขและไม่ค่อยสนใจนัก ว่าคนต่างรุ่นกับเขาจะคิดกันอย่างไร? เรากำลังอยู่ใน ‘คนละโลกเดียวกัน’ โดยไม่สนใจ ‘การเรียนรู้ร่วมกัน’บ้างหรือ ว่าแนวคิดนี้อาจจะผสานประโยชน์ให้คนสองฝ่ายที่ต่างความคิด เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ถนนสายเดียวกันก็ได้ ถ้าเราจะพยายามสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น รับฟังกันและกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะมองให้เห็นว่าสิ่งที่ ‘เรา’ต้องการเหมือนกันนั้นคือสิ่งใด? อาจารย์คึกฤทธิ์ ใช้วิธีการ “พูดคุยโต้ตอบกันอย่างมิตรสหาย ที่เหมือนกับคนธรรมดาสามัญคุยกันให้มากที่สุด” ผ่านการถาม-ตอบปัญหากับคนอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นผู้เสพสื่อ โดยคำนึงถึงเสมอว่า “คนไทยนั้น มีอยู่ทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก มีทั้ง ชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ รวมไปถึงสมณเพศ” และ “ปัญหาจากคนไทยเหล่านี้ ทำให้ผมได้รู้จักเมืองไทยดีขึ้นกว่าที่ได้เคยรู้จักมาก่อน และดีกว่าคนอีกหลายคน ที่ไม่มีโอกาสได้รับฟังปัญหามากเท่าผม ประโยชน์เหล่านี้ มีค่าเกินกว่าที่จะประมาณได้” นี่คือวิธีการ ‘เรียนรู้ร่วมกันแบบคึกฤทธิ์’ ที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้ระบายความรู้สึก หรือได้ความในใจถึงกันด้วยปัญหา โดยอาจารย์คึกฤทธิ์พยายามอย่างยิ่งที่จะ สร้างสรรคำตอบ อันมีทั้งสนับสนุนหรือคัดค้าน หรือแปรอารมณ์ของปัญหาเหล่านั้นให้บังเกิดขึ้น เพื่อดึงความสนใจในสังคมให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันปัญหานี้ก็ผ่านสายตาผู้บริหารประเทศ จนในที่สุดเป้าหมายร่วมกันก็สามารถมองเห็นได้เด่นชัดขึ้นมา ว่าคนไทยนั้นต้องการความสุข ความสงบ ต้องการสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจร่วมกันได้ ต้องการรัฐบาลที่รู้จักรับฟังเสียงของประชาชนทั่วประเทศ ขณะที่เป้าหมายเหล่านี้เพิ่มความแจ่มชัด อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่เคยขาดคำแนะนำเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก’ที่มีอยู่ทุกขณะ อันมีทั้ง การเปลี่ยนแปลงเรื่องวัฒนธรรมการเมืองสังคมเศรษฐกิจ ตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ “การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้น ถ้ามองให้ดีๆ ก็คืออนิจจัง ที่ทางพุทธศาสนาสอนไว้ในเรื่องสามัญญลักษณะ” วลีนี้เป็นประโยคฮิตของอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่มีวิธีการดึงธรรมะของศาสนาพุทธ มาอธิบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตร่วมสมัย ได้อย่างฟังง่ายเข้าใจง่าย และมองเห็นภาพได้เด่นชัด ยิ่งกว่าผู้สอนรายใด โมเดลคึกฤทธิ์ ที่ผมเจตนานำเสนอ จึงไม่ใช่แนวคิด ที่จะใช้เพียงแค่ติติงวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นแนวคิดที่คนทำสื่อ สามารถใช้ในการสื่อสาร เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันให้เกิดขึ้นได้ ในระหว่างคนไทยที่อยู่ร่วมกันในประเทศ ไม่ว่าจะระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกัน หรือระหว่างประชาชนต่อรัฐบาล ก็ตามที เรามาช่วยกันใช้ สิทธิและเสรีภาพในการทำสื่อ ให้บรรลุสู่เป้าหมายนี้ให้ได้ ดีไหมครับ? เพราะ อย่าลืมว่า “รัฐบาล ไม่ว่าจะดีหรือเลว แค่ไหน เมื่อมาแล้วก็ต้องไป แต่ประชาชนคนไทยเท่านั้นที่ยังอยู่ เพราะฉะนั้น รัก และเมตตาประชาชนคนไทยให้มากกันเข้าไว้เถิด” – นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวลีฮิตของอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ผมยังจำได้ ว่าอาจารย์เริ่มต้นวลีนี้ ตั้งแต่ยุครัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม มาก่อนที่จะเพิ่มประโยคในวลีนี้ขึ้นอีกในช่วงท้ายของชีวิตว่า “ถ้าอยากรู้ว่าความรักและเมตตาเช่นนั้นต้องทำอย่างไร ก็ขอให้ดูที่พระราชกรณียกิจของในหลวงที่ท่านทรงทำให้ประชาชนอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเห็นแล้วก็พยายามทำตามแนวทางของท่านให้ได้ สักแค่นิ๊ดด.....หนึ่ง เท่านั้นแหละ นั่นคือสิ่งที่แท้จริงของความรัก ความเมตตา” ด้วยอานุภาพแห่งสัจจะของธรรมะชื่อ กตเวทิตา ผมขอปิดท้าย โมเดลคึกฤทธิ์ ตอนที่ 9 ด้วยสำนึกแห่งพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นฯที่อาจารย์คึกฤทธิ์ตระหนักอยู่ตลอดชีวิตของท่าน ไว้ด้วยความรัก-เคารพ-และระลึกถึง