ดูเหมือนว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ผ่านไปแล้วยกแรกเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา บรรยากาศในการประชุม ไม่ดุเดือด เข้มข้นจนถึงขั้นทะลุปรอท ตามที่หลายฝ่ายวิตก !
แม้ประเด็นที่ถูกบรรจุเอาไว้ในญัตติที่สมาชิกรัฐสภาทั้งส.ส.และสว. นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม จะมีความล่อแหลม ด้วยเพราะ"ขอเรียกร้อง" จากกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม "คณะราษฎร" ที่พากันเคลื่อนไหว "รุกหนัก" อยู่ข้างนอกสภาฯ ทั้งกดดันและขับไล่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อเรื่องร้อนๆที่เคยเป็นข้อเรียกร้อง และมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ด้วยท่าทีที่ก้าวร้าว จาบจ้วงได้ถูกดึงเข้าสู่เวทีรัฐสภา เพื่อสนองตามเสียงเรียกร้องของ "ฝ่ายการเมือง" ที่เสนอให้ใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนท้องถนน มาสู่การคลี่คลายในรัฐสภา
แต่แล้วกลับกลายเป็นว่า พรรคฝ่ายค้านเองกลับต้องระมัดระวังตัว เพราะอย่าลืมว่าลำพังการใช้วาจาถ้อยคำเสียดสี ระหว่างสมาชิกในที่ประชุด้วยกันเอง คงไม่มีปัญหาเท่าใดนัก เนื่องจากฝ่ายที่ถูกพาดพิง ก็สามารถลุกขึ้นชี้แจงไปจนถึงโต้ตอบสวนเอาคืนกันได้ไม่ยาก
แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อมีการระบุหรือพาดพิงถึงสถาบัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า เวทีรัฐสภาคืออีกหนึ่งเวทีที่จะปลุกความขัดแย้ง ขึ้นมาไม่ใช่ทางออกจากวิกฤติได้ตามที่หลายฝ่ายฝากความหวังเอาไว้
แน่นอนว่าการเปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ 26-27ต.ค.นี้ จึงเกิดความซ้ำซ้อนกันเอง เมื่อ "พรรคการเมือง" ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้านบางส่วน ได้อาศัยเวทีรอบนี้ "กดดัน" ไปยัง "พรรคพลังประชารัฐ" พุ่งไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ให้เร่งเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนการ "ยื้อเวลา"
เพราะสำหรับพรรคการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความต้องการที่จะให้แก้ไขกฎกติกาในการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง มากกว่าการโดดลงไปร่วมสังฆกรรมด้วยการสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบัน
เพราะนี่คือความสุ่มเสี่ยง ที่ฝ่ายค้านมองว่าฟากรัฐบาลจงใจ โยนปัญหาและความล่อแหลมให้กับฝ่ายตรงข้าม หากมีการใช้วาจาจาบจ้วงสถาบัน ก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการส่องแสงสปอร์ตไลท์ไปยัง "ฝ่ายการเมือง" ที่รับลูกจากกลุ่มผู้ชุมนุม
ทำไปทำมากำลังกลายเป็นว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีการดึงเกมเข้าสภาฯเพื่อ "ซื้อเวลา" เพราะอย่าลืมว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรับโหมด และรับมือกับเกมความวุ่นวายในรัฐสภาได้แล้ว ยังดึงพรรคฝ่ายค้าน ให้ตกอยู่ในความเสี่ยงแทน
ขณะเดียวกัน ยังต้องไม่ลืมความเคลื่อนไหวจากพรรคร่วมรัฐบาลเองที่จะต้องใช้จังหวะนี้ กดดันไปยังหัวหน้ารัฐบาล เมื่อมองเห็นว่าจังหวะนี้ รัฐบาลยังรับศึกหลายทาง ด้วยการประกาศจุดยืนของพรรคชูเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะไม่แตะเรื่องของสถาบัน ขณะเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะออกแรงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กันอย่างสุดตัว เพราะการไม่เปิดหน้า ลงไปชนกับ "ม็อบคณะราษฎร" ให้เปลืองตัวก็ย่อมดีกว่าไปร่วมรบกับบิ๊กตู่ อยู่แล้ว !