การยกระดับการกดดันรัฐบาลโดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปยัง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จาก "ม็อบคณะราษฎร 2563" รวมทั้งเครือข่าย จากนี้ไปได้กลายเป็น "จุดโฟกัส" ที่หลายฝ่ายต่างพากันลุ้นว่า แกนนำม็อบจะทำอย่างไรต่อไป
เพราะเมื่อสิ่งที่ได้ "ขีดเส้นตาย" บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นั้นไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับปากกับประชาชนที่มาให้กำลังใจ แล้วว่า "ไม่ลาออกๆ"
หมายความว่า การที่ม็อบคณะราษฎร บุกไปประชิดถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดงพลังด้วยจำนวนผู้ชุมนุมที่หนาแน่น ด้วยความฮึกเหิมก่อนที่จะจบลงเพียงแค่ยื่นเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แทนที่จะพากันบุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล กลับไม่มีผลใดๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ในความเป็นจริงแล้วในการชุมนุมที่นำหน้าโดยคณะราษฎร แม้จะชูกลยุทธ์การต่อสู้ในมิติใหม่ว่า "ทุกคนคือแกนนำ" ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่แปลกใหม่ก็ตาม แต่ขณะเดียวกันแกนนำเองก็ยังคงใช้กลยุทธ์ที่ทุกม็อบ ทุกเสื้อสี ต่างเคยนำมาใช้ทั้งสิ้น นั่นคือการดึง ให้ "โลกล้อมไทย"
ยิ่งการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ขับไล่รัฐบาล ไปจนถึงการชูข้อเรียกร้องที่มีความเปราะบาง อย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกตั้งข้อสังเกตและนำไปเปรียบเทียบกับ การชุมนุมของเยาวชนต่อต้านรัฐบาลจีนที่เกาะฮ่องกง ว่าม็อบคณะราษฎร ในไทย กำลังเดินตามรอย "ฮ่องกงโมเดล" หรือไม่
หรือผสมผสานไปกับการใช้รูปแบบ "อาหรับสปริง" มีการชุมนุมใหญ่ในกลุ่มประเทศอาหรับ เป้าหมายคือการมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและอำนาจรัฐ
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนที่นำหน้าคณะราษฎร วันนี้กำลังเดินหน้าไปสู่ "กับดัก" ของตัวเองแทนที่จะเข้าใกล้ ชัยชนะ ตามที่หวังเอาไว้
เมื่อรัฐบาลเลือกใช้วิธีการดึงความขัดแย้งบนท้องถนนเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27ต.ค. นี้
แน่นอนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกลับมองว่านี่คือการเล่นเกม "ซื้อเวลา" ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เลือกใช้กลไกในรัฐสภา ยื้อเวลาเอาไว้ เบรคความแรงจากผู้ชุมนุม
มิหนำซ้ำการประชุมสภาฯ รอบนี้ ยังกลายเป็นความจงใจของรัฐบาลที่จะ "ผลักความสุ่มเสี่ยง" ไปให้ "พรรคฝ่ายค้าน" โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า 1ในข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมต้องการคือการปฏิรูปสถาบัน
ขณะที่ในการชุมนุมแต่ละครั้งก็ยังมีการใช้ถ้อยคำ และข้อความที่เป็นไปในลักษณะของการพาดพิง โจมตีและดูหมิ่นสถาบันอย่างจงใจ ซึ่งมีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐแล้วว่าจะเปิดทางให้พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายในประเด็นเรื่องสถาบันได้อย่างเต็มที่ และหากพาดพิงไปถึงสถาบันก็จะมีคนที่รอใช้กฎหมายเข้าจัดการกันต่อไป
เวลานี้แรงกดดันกำลังเทกลับไปกลุ่มผู้ชุมนุม และแกนนำคณะราษฎร ที่บัดนี้ต้องผลักดันเยาวชนในแถวที่สอง แถวที่สาม ขึ้นมารับไม้ต่อเมื่อแกนนำตัวหลักๆที่เคยดึงมวลชน ต่างถูกจับกุมกันถ้วนหน้า
ทิศทางจากนี้ไปของม็อบคณะราษฎร จึงมีแต่จะต้องยกระดับการชุมนุม ไปพร้อมๆกับการเพิ่มความแรง ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้ พันธมิตรและแนวร่วมไปจนถึงผู้เข้าร่วมชุมนุม ยิ่งถอยห่างออกไปมากขึ้น เพราะยิ่งสู้ยิ่งมองไม่เห็นทางชนะ !