ทวี สุรฤทธิกุล
ประเด็นต่อมา การได้มาของสภาปวงชนควรมาจากการเลือกตั้งหรือการคัดสรรแบบใด
ในแนวคิดของประเทศตะวันตกที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งจะขอยกตัวอย่างของประเทศอังกฤษ(ที่ประเทศไทยไปลอกเลียนรูปแบบของระบบรัฐสภาของเขามา)ที่มีระบบรัฐสภาในแบบนี้เป็นประเทศแรกของโลก ในยุคแรก ๆ เมื่อ 700 กว่าปีนั้น รัฐสภาเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มขุนนางที่มาร่วมกันต่อต้านอำนาจกษัตริย์ แล้วกว่า 400 ปีต่อมาจึงได้เกิดระบบพรรค ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของตัวแทนสามัญชนเป็นอีกสภาหนึ่ง ทำให้อังกฤษมีระบบ 2 สภา คือสภาขุนนาง (House of Lords) กับสภาสามัญชน (House of Commons) ซึ่งการได้มาของสมาชิกสภาขุนนางจะมาโดยการสืบตระกูลและการคัดสรรจากบุคคลที่มีฐานะพิเศษในทางสังคม ทำหน้าที่เป็น “สภาเกียรติยศ” และคอยสนับสนุนงานของสภาสามัญชน ที่ในยุคแรกก็มาจากการอาสาหรือเสนอตัว ต่อมาจึงคัดสรรด้วยระบบการเลือกตั้ง จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) จนกระทั่งเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมานี้ อังกฤษได้มีการขยายสิทธิ์เลือกตั้งไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้ระบบพรรคมีความเข้มแข็ง รัฐสภาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแม่แบบ (Role Model) ของระบบ 2 สภามาจนถึงปัจจุบัน
ที่เล่าเรื่องวิวัฒนาการของระบบรัฐสภาอังกฤษมานี้ เพื่อเทียบเคียงให้เห็นว่ามีส่วนคล้ายของไทย(หรือไทยเราลอกแบบมาได้ค่อนข้างเหมือน)คือเป็นการรอมชอมระหว่างศักดินากับราษฎร ซึ่งกรณีของไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ใช้ระบบสภาเดียว คือมีแต่สภาผู้แทนราษฎร กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงกำหนดให้มี “พฤฒิสภา” ขึ้นมาอีกสภาหนึ่ง ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2592 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วุฒิสภา” โดยกำหนดให้มีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ทำหน้าที่เป็น “สภาพี่เลี้ยง” และคอยตรวจสอบกลั่นกรองการพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในความเป็นจริงนั้นก็คือการบรรจุคนที่มีฐานะตำแหน่งสูง ได้แก่ ข้าราชการ และพรรคพวกของผู้มีอำนาจ เอาไว้คอยสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นวุฒิสภาจึงดูคล้ายสภาขุนนางของอังกฤษ (เพียงแต่สภาขุนนางอังกฤษจะมีอำนาจและมีบทบาทในกระบวนการนิติบัญญัติไม่มากนัก และค่อนข้างมีความเป็นกลางทางการเมือง) ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาของตัวแทนประชาชน
ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อันเป็นยุคที่ได้ชื่อว่า “ปฏิรูปการเมือง” จากการรับฟังเสียงประชาชนของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าจะต้อง “พัฒนา” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดีกว่าเดิม ดังนั้นในที่สุดก็มีการกำหนดให้ผู้ที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย รวมถึงที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้สภาผู้แทนราษฎรทำงานให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ภายใต้การกำกับตรวจสอบของประชาชนอย่างเข้มข้น ด้วยการสร้างระบบพรรคให้เป็นพรรคใหญ่และเข้มแข็ง ร่วมกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวาง แต่สภาพการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง ที่สุดสภาผู้แทนราษฎรของไทยก็ถูกครอบงำโดยระบบนายทุน ดังนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อขัดขวางการครอบงำพรรค ที่สืบเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่วางหลักไม่ให้มี “คนนอก” เข้ามาบงการพรรค ตลอดจนควบคุมกระบวนการเลือกตั้งไว้อย่างแน่นหนา ดังที่ได้สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ข้อถกเถียงถึงที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงเป็นประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุป โดยที่ในตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้มีแนวคิดที่จะจัดกลุ่มผู้แทนราษฎรตาม “กลุ่มอาชีพ” จนถึงขั้นมีการทำวิจัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคนั้นว่า น่าจะแบ่งกลุ่มประชาชนคนไทยเป็นอาชีพต่าง ๆ สัก 20 กลุ่ม แล้วให้มีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามโควตาของประชาชนในแต่ละกลุ่มอาชีพนั้น เช่น อาชีพละ 20 คน แต่แนวคิดนี้ก็ยังไม่ตกผลึก ต่อมาในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็มีแนวคิดนี้ถูกนำเสนอขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะให้มีการนำร่องใช้ก่อนในวุฒิสภา แต่ก็ถูกดัดแปลงไปเป็นการให้มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจากข้าราชการในบางตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการเหล่าทัพและตำรวจ ด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาลโดยตรง ไม่ใช่การกระจายอำนาจให้กับตัวแทนของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างที่คิดไว้
อีกแนวคิดหนึ่งที่จะเพิ่ม “ศักดิ์ศรี” ให้กับสมาชิกรัฐสภาก็คือ “การควบคุมทางจริยธรรม” ทั้งนี้ในระบบรัฐสภาก็มีกฎหมายหลักที่กำหนดในเรื่องเหล่านี้ไว้ ที่เป็นหลัก ๆ ก็คือ ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา และประมวลจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เอาเข้าจริง ๆ เมื่อเกิดปัญหาด้านจริยธรรมขึ้น กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่สามารถบังคับอะไรได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะควบคุมพฤติกรรมของบรรดาสมาชิกรัฐสภาด้วยการตรวจสอบของประชาชน แต่ก็มีการดำเนินการโดยประชาชนนั้นน้อยมาก จึงยิ่งทำให้สภาพการณ์ยัง “เน่าเฟะ” อย่างที่เป็นอยู่
ด้วยเหตุนี้ในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(เพราะต่อไปวุฒิสภาน่าจะไม่มีความจำเป็นสำหรับระบบรัฐสภาสมัยใหม่อีกต่อไป แต่จะเหลือเพียงสภาเดียว ดังที่ผู้เขียนเสนอให้เรียกว่า “สภาปวงชน”) จึงเป็นกระบวนการที่ไม่อาจจะใช้กฎหมายควบคุมได้ตามลำพัง แต่ประชาชนนั่นเองที่จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลผู้แทนปวงชนเหล่านั้นอย่างเข้มแข็งและจริงจัง เพื่อให้เป็นเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ใช่แต่เฉพาะแก่ตัวสมาชิกสภาและระบบรัฐสภานั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาชนคนไทยทั้งหมด ดังที่มี “สัจพจน์ทางการเมือง” กล่าวไว้ว่า “ผู้แทนราษฎรเป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้น”
สรุปว่า ที่การเมืองไทยแย่อย่างนี้ก็เพราะเราไม่ได้ดูแลผู้แทนฯของเราให้ดีนั่นเอง