ทวี สุรฤทธิกุล ร.7 ไม่ทรงคาดคิดที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ นักประวัติศาสตร์ให้คำอธิบายว่า สิ่งหนึ่งก็คือทรงเป็นพระราชโอรสองค์เล็กสุดหรือองค์สุดท้ายที่ร่วมพระอุทรกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โดยยังมีพระเชษฐาบางพระองค์ที่อยู่ในลำดับที่สูงกว่าที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้ แต่ที่เป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ “เหตุผลส่วนพระองค์” ที่เป็นพระราชอัชฌาศัยที่ไม่ปรารถนาจะดำรงพระราชอิศริยศอันสูงสุดในแผ่นดินนี้ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลมากมายที่เราไม่อาจล่วงรู้ แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ ทรงทราบถึงปัญหาบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี และทรงทราบด้วยว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นยากลำบากเพียงใด โดยเฉพาะปัญหาด้าน “ตัวคน – ความคิดคน” ดังที่พระราชบิดาคือรัชกาลที่ 5 และพระเชษฐาคือรัชกาลที่ 6 ทรงเผชิญมาอย่างน่าหวาดหวั่นนั้น ดังที่ได้ทราบมาบ้างแล้วว่า ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยประสบภัยคุกคามทั้งในและนอกประเทศอย่างน่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะภัยคุกคามภายในที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางอย่างน้อย 3 ฝ่าย หนึ่งก็คือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดพระองค์ที่เพิ่งจะได้รับโปรดเกล้าฯให้มียศสูงขึ้นเพื่อสนองงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่(รัชกาลที่ 6) สองก็คือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่มีอาวุโสที่ยังยึดติดกับระบบงานและความจงรักภักดีที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน(รัชกาลที่ 5) และสามก็คือกลุ่มขุนนางและข้าราชการรุ่นใหม่ที่มีความทะเยอทะยานและเป็นอิสระจากกลุ่มบุคคลในอีกสองกลุ่มนั้น ความขัดแย้งของบุคคลทั้งสามกลุ่มต้องถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ ในส่วนแรกได้เกิดความหวาดระแวงระหว่างคนทั้งสามกลุ่มนั้น โดยมีกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ในตอนต้นรัชกาลเป็นบาดแผลสำคัญ ถึงขั้นที่มีเรื่องมีราวว่าทหารได้ถูกแบ่งเป็น 2 พวก คือ “พวกของในหลวง” กับ “พวกของแผ่นดิน” เพียงแต่ไม่ได้มีการประกาศตัวออกมาอย่างเด่นชัด แต่ความขัดแย้งที่ร้ายแรงและก่อความเสียหายจนถึงขั้นที่นำมาสู่ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินก็คือ ความขัดแย้งระหว่างทหารและข้าราชการรุ่นเก่ากับทหารและข้าราชการรุ่นใหม่ ในเรื่องที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่ทหารและข้าราชการรุ่นใหม่ โดยบางส่วนได้มีการไปปรึกษาหารือกันที่ต่างประเทศ จนถึงขั้นตั้งเป็นกลุ่มคณะผู้ก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยให้เหตุผลอย่างเด่นชัดว่ามีความขัดแย้งกับ “ขุนนางผู้ใหญ่” ส่วนภัยคุกคามภายนอกประเทศก็เป็นที่น่าวิตกไปไม่น้อยกว่ากัน ที่กระทบกับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้วก็คือการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตก แม้จะเพลามือลงไปด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังส่งผลให้ประเทศไทยต้องระแวดระวังและแสดงบทบาทการรักษาอธิปไตยอย่างแข็งแกร่ง พอดีกับที่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในยุโรปใน พ.ศ. 2457 ประเทศไทยก็พยายามระมัดระวังในการแสดงบทบาท จนกระทั่งใน พ.ศ. 2460 จึงได้ตัดสินใจส่งทหารไทยไปร่วมรับกับฝ่ายพันธมิตร โชคดีที่ฝ่านพันธมิตรได้รับชัยชนะในปีต่อมา ประเทศไทยจึงได้รับเกียรติภูมิเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น แต่กระนั้นผลกระทบของเศรษฐกิจตกต่ำที่ตามมาภายหลังมหาสงครามในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดหายนะไปทั้งโลก แม้แต่ในดินแดนที่ห่างไกลหรือไม่เกี่ยวข้องกับการสงครามอย่างกรณีของประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลเช่นกัน ส่วนหนึ่งคือต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประเทศอย่างไม่ทันตั้งตัว ซึ่งมาระเบิดในสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงขั้นต้องลดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้งบประมาณเข้าสู่สมดุล เช่น การ “ดุล” ให้ข้าราชการออกจากตำแหน่งในทุกๆ ระดับ แต่ที่เป็นปัญหามากก็คือข้าราชการระดับกลางๆ ที่มีความกินแหนงแคลงใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม การขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีปัญหามากมายดังนี้ จึงเป็นพระราชภาระอันยิ่งใหญ่และเป็นความท้าทายที่พระองค์ต้องเผชิญ ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ตั้งพระราชหฤทัยที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ด้วย “ขัตติยะมานะ” คือความรับผิดชอบในฐานะผู้สืบทอดราชบัลลังก์ จึงทรงดำเนินการหลายๆ เรื่องให้นำไปสู่ครรลองของการเปลี่ยนแปลง ที่ก็น่าจะทรงรับรู้อยู่เต็มพระทัยว่ามีข้าราชการจำนวนหนึ่ง กำลัง “สมคบคิด” เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว มีนักประวัติศาสตร์บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ในการส่งพระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่ทรงเน้นให้พระราชโอรสเหล่านั้นไปศึกษาวิชาทหาร จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าพระองค์(รัชกาลที่ 5)น่าจะทรงรู้ปัญหาของแผ่นดินได้ล่วงหน้าว่า บ้านเมืองจะอยู่รอดได้ก็ด้วยทหาร เพียงแต่พระราชโอรสเหล่านี้มิได้ศึกษาแต่วิชาทหาร แต่ยังได้ไปซึมซับเอาบรรยากาศของบ้านเมืองในยุโรปเหล่านั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในแนวที่ลดบทบาทของพระมหากษัตริย์ ดังที่เราได้เห็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ที่รัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ รวมถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 นี้ด้วย ว่ากันไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักประชาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ในรูปแบบเก่า แต่ด้วยทรงมีกลุ่มคนที่รายรอบพระองค์เองเป็นอุปสรรคขวางกั้น ที่ไม่ได้ปรับตัวไปตามแนวพระราชดำริ มีการดำเนินการแบบ “ฤาษีแปลงสาร” ไม่ได้สนองพระราชดำริอย่างตรงไปตรงมา ที่สุดก็นำความเข้าใจผิดและเกิดความขัดแย้งกับข้าราชการกลุ่มที่กำลังสมคบคิดกันอยู่นั้นมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ข้าราชการกลุ่มนั้นพลอยเข้าผิดในพระราชปณิธานที่จะพระราชทานประชาธิปไตยแก่ประเทศไทย ที่เกือบจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมแก่สถาบันที่คนไทยเคารพและเทิดทูน โชคดีที่เรามีพระเจ้าอยู่หัวเป็นรัชกาลที่ 7