วันที่ 23 ตุลาคม เวียนมาบรรจบ ปวงชนชาวไทยพร้อมใจรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุกร่มเย็น เป็นที่เคารพรักของอาณาประชาราษฎร์ ทรงประกาศเลิกทาส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2417 ในที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุของลูกทาส และพระราชบัญญัติลักษณะทาสหลายฉบับเพื่อให้ลูกทาสได้เป็นไทแก่ตัว นอกจากนี้ ทรงออกประกาศประมวลกฎหมายลักษณะอาญากำหนดบทลงโทษแก่ผู้ซื้อขายทาสให้มีความผิด ทั้งยังบริจาคพระราชทรัพย์ไถ่ถอนทาสพร้อม พระราชทานที่ทำกิน โดยใช้เวลา 30 ปีจึงสำเร็จตามพระราชปณิธาน จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม วันเสด็จสวรรคต เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และ กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และวาทกรรมคำว่า “ทาส” ถูกผลิตซ้ำ จึงขออนุญาตยกนำความตอนนหนึ่งจากบทความ ของ ทวี สุรฤทธิกุล ได้เขียนถึงการสร้างประชาธิปไตยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ในคอลัมน์ตะเกียงเจ้าพายุ “เรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มานำเสนอดังนี้ “... ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้าง และผู้เขียนเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้นคืออะไร ซึ่งมีลักษณะเด่นๆ 5 ประการ คือ 1. มีลักษณะเป็นผู้ปกครองแบบ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนหรือคนทุกกลุ่มให้การยอมรับหรือยินยอมให้เป็นผู้นำของเขา (เอนก = มาก ทุกกลุ่ม, ชนนิกร = ประชาชน สโมสร = ร่วมกัน ประชุมกัน สมมุติ = แต่งตั้งให้เป็น) โดยมีการใช้แนวคิดนี้มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย แต่มาระงับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่นำระบบการสืบสันติวงศ์มาใช้ แต่ได้รื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการผสมผสานเข้ากับการสืบสันตติวงศ์ด้วย โดยยังคงเน้นการยอมรับจากประชาชนทุกฝ่ายเป็นสำคัญ 2. มีลักษณะเป็นผู้ปกครองที่ใกล้ชิดสนิทแนบแน่นกับผู้ใต้ปกครอง ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการปกครองตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเช่นกัน ดังที่เราเรียกการปกครองในยุคนั้นว่า “การปกครองแบบพ่อปกครองลูก” แม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเทวราชก็ยังต้องคงรูปแบบความใกล้ชิดนี้ไว้ สืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนี้ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้สร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ขึ้นอย่างจริงจัง จนเป็นพระราชกรณียกิจอันมั่นคงสืบมาตลอดทุกรัชกาล 3. มีลักษณะที่เน้นประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์เป็นสำคัญ ภายใต้แนวคิดที่มีแต่ต้นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยที่พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้ปกครองและผู้นำที่ดี ที่จะ “นำ” ให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ถึงขั้น “ร่วมเป็นร่วมตาย” ดังเช่นกรณีการเสียดินแดนครั้งแล้วครั้งเล่าในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 แต่ก็เป็นการยอมลดทอนพระเกียรติยศเพื่อรักษาเอกราชให้คนไทยทั้งชาติยังคงเชิดหน้าชูตาว่าไม่ได้สูญเสียอิสรภาพให้แก่ชาติใด 4. มีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับความเป็นคน หรือ “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เฉพาะแต่ที่ได้ทรงเลิกทาสเพื่อยกระดับความเป็นอารยะให้แก่คนไทยและสังคมไทย แต่ยังรวมถึงการจัดให้มีการศึกษาขั้นมูลฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อยกระดับสติปัญญาและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เพราะความเจริญทั้งด้านตัวมนุษย์และวัตถุทั้งหลายนี้คือรากฐานอันสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ให้ทุกคนได้ระลึกว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญแก่พวกเขาอย่างแท้จริง 5. มีลักษณะเป็นการปกครองใช้หลักเมตตาธรรม อันได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ในแนวที่พระมหากษัตริย์นั้นคือ “พระโพธิสัตว์” ผู้บำเพ็ญบารมีและมีคุณธรรมสูงส่ง ประกอบไปด้วยความเสียสละ เมตตากรุณา เอื้อเฟื้อ ปกป้อง และเป็นที่พึงพิง ดังนี้พระมหากษัตริย์จึงมีฐานะเป็นทั้ง “ผู้ก่อเกิด ผู้ให้ ผู้ปกป้องคุ้มครอง และผู้เป็นที่พึ่งพิงอาศัย” ดังพุทธชาดกเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้านั้น ซึ่งทำให้คนไทยระลึกอยู่เสมอว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นบุคคลที่มี “ความสูงส่ง” ทั้งทางด้านพระปรีชา พระจริยวัตร และคุณธรรม”