พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ วันนี้อยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านมาดูเรื่องความเป็นอยู่ของคนไทยเราในอเมริกาครับ เพราะเวลานี้คนไทยอาศัยอยู่ในอเมริกาจำนวนไม่น้อย แต่กลับไม่สามารถระบุจำนวนที่แท้จริงได้ เพราะมีแรงงานใต้ดินโรบินฮู้ดจำนวนหนึ่ง และเป็นจำนวนมาก บรรดาแรงงานเหล่านี้อาจไม่โชว์ตัวเปิดเผยแจ้งกับทางการไทผ่านสถานกงสุลในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ (อย่างเช่น การลงทะเบียนเลือกตั้งในต่างประเทศ) ตรงนี้อาจทำให้ยากแก่การประมาณการ หรือสำรวจของฝ่ายไทยเอง ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า หามีหน่วยงานใด สำรวจ หรือทำวิจัยเรื่องจำนวนคนไทยในอเมริกาอย่างจริงจัง แม้โดยที่ตอนนี้เชื่อกันว่า แรงงานไทยในอเมริกาส่งเงินกลับเมืองไทยมากที่สุด มากกว่าจำนวนเงินจากแรงงานในประเทศอื่นๆ ที่เห็นๆกัน เป็นทั้งการส่งนอกระบบและในระบบ ความเข้าใจของคนไทยในประเทศและรัฐบาลไทยหลายยุคหลายสมัย ต่อแรงงานไทยในอเมริกา ยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะมักเข้าใจว่า แรงงานไทยในอเมริกา สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนแทบไม่ต้องรับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลไทยอีกแล้ว  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ลอสแองเจลิส (แอล.เอ.)  รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเมืองที่คนไทยอาศัยอยู่หนาแน่นและมากที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็นเมืองที่มีปัญหาล่อแหลมมากที่สุด  ทั้งปัญหาคนไทยด้วยกันเอง และปัญหาคนไทยกับคนเชื้อชาติอื่น เพราะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยส่วนใหญ่ทำงาน“เชิงพิธีกรรม” เอาหน้าเอาตา เช่น การเปิดงาน หรือเป็นประธานในงานเลี้ยง งานบอลล์ ในชุมชนไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยในหลายๆ ประการ หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหาข้อกฎหมาย  ในอเมริกานับว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง ขณะที่ที่ผ่านมาคนไทยมีคดีความ เช่น การตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนหลายราย คนไทยที่เมืองไทยอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า “ทะแนะ”  ที่แค่ฟังก็ทะแม่งๆ หูอยู่แล้ว แต่คนไทยที่อเมริกา พอได้ยิน ต้องร้องอ๋อ!!! เลยทีเดียว   และหลายคนอาจกำลังดีลกับทะแนะอยู่ด้วยซ้ำ สำเนียงฟังดูคล้ายคำว่า  “ทนาย” ไม่ทราบว่าใครเป็นคนบัญญัติศัพท์แสงคำนี้ เพราะแค่ฟังก็ รู้สึกจั๊กกะจี๋ แกม“ทะลึ่ง” เสียแล้ว ชวนให้ตีความออกไปหลายอย่าง เพื่อนคนไทยบางคนล้อว่า ทะแนะ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ทะนาน” หมายถึง การดองเรื่องไว้นานๆ แบบเก็บเข้ากรุ ไม่ก็ลูกความต้องจ่ายเงินหลายรอบนานๆ ให้กับทนายไม่มีคุณภาพที่ทะแนะสรรหามาให้ คนไทยในอเมริการู้กันโดยอัตโนมัติว่า ทะแนะย่อมต้องคู่กับทนาย ทะแนะทำหน้าที่เป็นลูกมือให้กับทนาย  แต่ทะแนะก็ไม่ใช่ทนาย บ้างเข้าใจว่า ทะแนะเป็นเสมือนนายหน้าของทนาย เพราะแทนที่จะเสียค่าทนายอย่างเดียวก็เสียเงินค่าตัวทะแนะพ่วงรวมกันไปกับค่าทนายด้วย การมองในประเด็นหลังนี้ เป็นไปในเชิงลบอยู่สักหน่อย หากพูดขึ้นมาบรรดาทะแนะที่ได้ฟังอาจโกรธเคืองเอาได้ แต่ความจริงก็คือความจริง ในอเมริกา หากคุณไปเจอทนายสับปะรังเค มาว่าความในคดีฉกรรจ์หรือไม่ฉกรรจ์ก็ตาม คุณอาจเข้าไปอยู่คุกได้ง่ายๆ การหาทนายความจึงต้องพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่ง ทนายที่ไม่เข้มแข็ง มีประสบการณ์ที่เก่งมากพอ อาจลากเอาลูกความเสียทั้งเงิน และเข้าไปอยู่ในคุก ในอเมริกานั้น มีสมาคมทนายทีเรียกว่า บาร์ (Bar Association)  ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบการให้กับทนายความในแต่ละรัฐ ทนายทั้งหลายต้องมีใบอนุญาตประจำสำนักงานจึงสามารถว่าความได้  ใบอนุญาตดังกล่าวต้องต่ออายุเป็นช่วงๆ ไป อาจเป็นปีหรือแล้วแต่กฎของบาร์ ของแต่ละประเภททนายกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน  เช่น ทนายอาชญากรรมเป็นอย่างนี้  ทนายด้านต่างด้าว หรืออิมมิเกรชั่น อาจกำหนดไว้อีกแบบ    แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ การเป็นทนายที่เก่งกล้าเข้มแข็ง กล่าวคือ เป็นทนายที่อาจหาญในศาล ทั้งต่อหน้าคู่ความ และผู้พิพากษา เพราะช่วงขณะที่กำลังว่าความอยู่นั้น ต้องอาศัยจิตวิทยาอย่างสูง ทนายบางคนไม่สามารถพอก็ต้องแพ้ต่อประกายรัศมีของทนายฝ่ายตรงกันข้าม หรือกระทั่งแพ้รัศมีผู้พิพากษา  ลักษณะของทนายที่ดีจึงต้องอาจหาญมั่นใจ มั่นคง ไม่วอกแวก ซึ่งการที่ทนายจะมีบุคลิกลักษณะเหล่านี้ได้  ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ในการว่าความ รวมทั้งต้องมีไหวพริบ ความรู้ที่กว้างขวางอีกด้วย แต่การจ้างทนายที่ดีนั้น ต้องเตรียมใจไว้เสมอสำหรับค่าจ้างที่จะแพงขึ้นตามคุณภาพไปด้วย เมื่อถึงช่วงที่กำลังมีปัญหาร้อนแรง ลูกความก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างนอนนอกคุกกับอยู่ในคุก ค่าจ้างทนายที่เพิ่มสูงหากเทียบกับการนอนคุกแล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องคิดว่าจะเลือกทนายแบบไหน ลูกความบางคนจ่ายค่าทนายเท่าไหร่ก็ต้องยอม ผมไม่ทราบว่า “ทะแนะ” ในชุมชนไทยในอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อไร เดาว่าคงนานหลายปีมาแล้ว นับแต่คนไทยเข้ามายึดหัวหาดทำมาหากินในอเมริกากระทั่งชุมชนขยายเติบใหญ่ขึ้น  ผมสันนิษฐานว่า แต่เดิมคงไม่ได้ทำธุรกิจทะแนะอย่างเป็นกิจลักษณะดังปัจจุบัน แต่คงเป็นแบบให้คำแนะนำช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนไทยด้วยกันเอง มากกว่าหวังผลเชิงธุรกิจ สาเหตุที่ต้องใช้ทะแนะ ช่วงแรก น่าจะเกิดจากคนไทยมีอุปสรรคทางด้านภาษา คือสื่อภาษาอังกฤษกับจนท.ฝ่ายราชการอเมริกันไม่ได้ หรือได้บ้างก็ในระดับพื้นๆ แต่สื่อในระดับที่มีความจำเป็น หรือมืออาชีพไม่ได้ จึงต้องอาศัยคนไทยด้วยกันที่รู้ภาษาอังกฤษดีช่วยเหลือเป็นสื่อกลาง เสมือนเป็นล่ามให้ นอกเหนือจากการติดต่อวิ่งหาทนาย และประสานงานให้ในช่วงของคดีความนั้นๆ ต่อมาเมื่อชุมชนไทยขยายเติบใหญ่มากขึ้น ก็มีคนไทยหลายคนตั้งตนเป็นทะแนะ ทำธุรกิจร่วมกับทนายตัวจริงที่มีใบอนุญาตว่าความ ขอแบ่งทะแนะแบ่งออกเป็น 2 พวกนะครับ คือ ทะแนะที่ทำงานในออฟฟิศทนาย และทะแนะทีทำงานนอกออฟฟิศของทนาย ทะแนะที่ทำงานในออฟฟิศของทนาย หมายถึงทะแนะที่เป็นลูกน้องของทนาย กินเงินเดือนของสำนักงานทนายความ  ไม่ก็ทนายอาจให้ค่าตอบแทนในลักษณะค่าคอมมิชชั่นต่อการว่าความของแต่ละลูกความ  มีหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ของคนที่โทรเข้ามาสอบถาม อาจให้คำแนะนำในเบื้องต้นด้านกฎหมายได้   ออฟฟิศของทนายคนเดียวอาจมีทะแนะหลายคน  หลายสำนักงานทนายในเมืองใหญ่ๆ อย่างลอสแองแจลิส ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ค  ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ หลายภาษา ส่วนใหญ่ใช้ทะแนะทำหน้าที่สื่อสารกับลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติเหล่านี้ ทำให้ได้ลูกความหลายเชื้อชาติ ในอเมริกาคนเชื้อสายต่างด้าวจำนวนมากไม่สามารถสื่อภาษาอังกฤษได้ดี  หลายคนสนทนาระดับพื้นฐานก็ยังไม่ได้ ทะแนะจึงเข้ามารับบทบาทช่วยตรงจุดนี้ ทะแนะที่ทำงานนอกออฟฟิศของทนาย อาจเป็นทะแนะอิสระ เป็นทะแนะที่มีงานประจำอื่นทำอยู่ด้วย ส่วนใหญ่สำนักงานทนายให้ค่าตอบแทนในรูปแบบคอมมิชชั่น เป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเหมาว่าความ  ทนายแต่ละสำนักอาจมีข้อตกลงกับทะแนะแตกต่างกันไป สองฝ่ายตกลงกันเอง แต่สรุปแล้วทั้งสองฝ่ายต้องได้ผลประโยชน์  นี่เป็นเรื่องที่คนไทยจำนวนมากในอเมริกาต้องเจอ เมื่อมีคดีความหรือมีปัญหาข้อกฎหมาย รวมทั้ง การช่วยยื่นเรื่องเกี่ยวกับสถานะ การอยู่อย่างถูกต้องในอเมริกา ใบเขียวหรือแปลงสัญชาติ (ทนายด้านอิมมิเกรชั่น) พวกเขาต้องพึ่งพาทะแนะ ทั้งโดยรู้เท่าและไม่รู้เท่า เพราะคนไทยในอเมริกาจำนวนมากไม่มีที่พึ่งด้านกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา พวกเขามักไม่เข้าใจกระบวนการเชิงกฎหมายที่แตกต่างจากระบบกฎหมายไทย เป็นเหตุให้ต้องเสียเงินทองกันไปจำนวนมาก  จากความไม่รู้ ความกลัวและความวิตกกังวล น่าแปลกใจที่ปัญหาเหล่านี้ยังหาได้รับการใส่ใจจากหน่วยงานฝ่ายรัฐไทยแต่อย่างใดไม่ ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายไทยสามารถประสานความร่วมมือกับฝ่ายทางการอเมริกันได้ แม้แต่การจัดการสัมมนาให้ความรู้กับชุมชนไทยในอเมริกา.... (ยังมีต่อตอนหน้าครับ)