สถาพร ศรีสัจจัง มีโอกาสได้ไป “แลกเปลี่ยน” ความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การเขียนเชิงสร้างสรรค์” (เป็นคำที่แปลมาจากภาษาฝรั่งอังกฤษ คือจากคำ “creative writing”) ในงาน “ปฏิบัติการฝึกเขียนเชิงสร้างสรรค์” (หรือ “Creative Writing workshop” ใช้ภาษาฝรั่งอังกฤษกำกับไว้หน่อยเช่นกัน เพื่อจะได้ดูน่าเชื่อถือและคล้ายเป็นรูปแบบกิจกรรมที่มาจาก “ตะวันตก” ซึ่งน่าจะช่วยให้ดู “เท่กว่า” อีกโสดหนึ่ง ตามปรากฏการณ์ของคนไทยรุ่นคลั่งความคิดแบบฝรั่งตะวันตกในปัจจุบัน เพราะการสืบสานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและของสังคมโดยรวมอ่อนแอไร้ศักยภาพเชิงนโยบาย โดยเฉพาะในกลุ่มชนชี้นำ) ของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรมที่จังหวัดสงขลาเมื่อวันก่อน ทำให้ได้พบเห็นแนวคิดและทรรศนะเชิงเปรียบเทียบบางอย่างที่น่าสนใจ ในการอภิปรายหัวข้อ “แนวคิดและหลักในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่ควรทราบ” มีผู้อภิปรายนำเพื่อ “ปูพื้น” ให้กับนักเรียน นักศึกษาและครูอาจารย์ที่เข้าร่วมปฏิบัติการ 2 ท่านด้วยกัน ทั้ง 2 ท่านเป็นนักวิชาการที่สอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยในหัวเมืองที่จบการศึกษาในระดับ “ดอกเตอร์” มาทั้งคู่ ผู้ดำเนินการอภิปรายแนะนำคุณสมบัติของ 2 ท่านเสียยาวเหยียด ในนั้นมีบอกว่า ทั้ง 2 ท่านมีประสบการณ์ในการสอนเกี่ยวกับงานวรรณกรรมทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก มาอย่างช่ำชอง จำได้ว่าวิทยากรทั้งสอง “พยายาม” ให้แนวคิดและหลักการใน “การเขียนเชิงสร้างสรรค์” แบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เพียบ” จำได้อีกว่า “แนวคิดและหลักการ” ที่ทั้ง 2 ดอกเตอร์นำเสนอนั้นล้วนเป็น “คำประหลาดๆ” ที่ไม่ค่อยคุ้นหูนักเรียนและครูบ้านนอกที่สนใจในเรื่องจะพัฒนาการเขียนเชิงสร้างสรรค์สักเท่าไหร่ เกือบทั้งหมดเป็นแนวคิดและหลักการที่ถอดมาจากนักทฤษฎีวรรณกรรม และ นักเขียนแถบอัสดงคตประเทศแทบจะทั้งสิ้น เหมือนกับว่าชาติตะวันออกหรือชาติไทยเราไม่เคยสร้างสรรค์หรือสั่งสม “แนวคิดและหลักการ” ในการเขียนสำคัญๆที่ควรยึดมาเป็นแนวทางสร้างงานไว้เลย! ทั้ง “เซสชั่น” นั้นจึงเต็มไปด้วยถ้อยคำ “เทคนิเกิลเทอม” หรือ “ศัพท์เทคนิค” ภาษาอังกฤษ และ “ศัพท์บัญญัติ” เต็มไปหมด จนเมื่อถึงช่วงที่มีโอกาสให้คุณครูและนักเรียนที่ทำตัวเป็น “ผู้รับสาร” แบบนิ่งเงียบเพื่อฟังมาตลอดเกือบ 2 ชั่วโมงได้ซักถามข้อสงสัยและแสดงความคิดเห็นบ้าง เที่ยวนี้เองที่หูตาได้แจ้งขึ้น คือได้รู้ว่า ที่จริงแล้วชาติใหญ่ๆที่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของตะวันออกเรา หรือแม้แต่ชาติไทยเราเอง ก็ได้สั่งสมมรดก “วัฒนธรรมทางการเขียน” เอาไว้ไม่น้อย หลายอย่างดูจะเป็นรูปธรรมและ “ลุ่มลึก” กว่าของฝรั่งอั้งม้อเสียด้วยซ้ำ! หลังจากได้ฟังถ้อยวาจาแบบ “การเขียนแนวโพสต์โมเดิร์น” (พร้อมชื่อนักคิดนักเขียนแนวนี้ของฝรั่งคนสำคัญๆ เช่น นิชเช่/ฟร้านซ์ คาฟก้า/มิเชล ฟูโกต์ ฯ) “การเขียนแนวเอ็กซิเตนเชียลลิสต์” (Existentialism)/ “การเขียนแบบกระแสสำนึก” (The stream of consciousness)/การเขียนแบบสัจจนิยมมายา(Magical realism)ฯลฯ มาจนหูอื้อตาลายแล้ว จึงได้ยินบางใครที่เข้าร่วมงานนี้ในฐานะ “participant” ได้นำเสนอความคิดเห็นจาก “ฟลอร์” อย่างน่าสนใจ จึงขอสรุปมาเสนอให้ลองรับฟังกันดู เพื่อเป็นการแผ่ขยายแนวคิดพอได้เป็นตัวอย่างว่า จริงๆแล้ว สังคมไทยและปราชญ์ชาวตะวันออกเราก็ได้ค้นคว้าสร้างสรรค์สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า “แนวคิด” หรือ “วิธีวิทยา” (Methodology) ไว้ไม่น้อยเช่นกัน แต่ระบบการศึกษาของเราต่างหากที่ละเลยไม่นำมาสืบสานต่อยอด ระบบเชิงนโยบายภายใต้การนำของ “ชนชั้นนำ” ต่างหากที่ไม่สามารถสร้าง “กระแส” ให้คนชั้นหลังได้ตระหนัก ภาคภูมิใจ และนำมาสืบสานพัฒนาต่อ ที่จริง “ผู้เข้าร่วมงาน” ท่านนั้น(หลังฟังท่านพูดแล้วจึงสรุปได้ว่า น่าจะเป็นผู้ “ รู้จริง รู้กว้าง รู้ลึก และสามารถบูรณาการไดอย่างเป็นรูปธรรม” โดยไม่ต้องเป็น “ขี้ข้า” ความติดโลกตะวันตกมากนัก) พูดอรรถาธิบายถึงพัฒนาการของการเขียนเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน อย่างเป็นระบบ กระชับ และได้ความชัดเจนว่า “ราก” ที่เป็นมรดกทางปัญญาซึ่งส่งทอดกันมาถึง 6-700 ปีนั้นขาดสะบั้นลงเพราะ “กระแสความคิดตะวันตก” ที่พัดมาพร้อมกับระบบเศรษฐกิจกระแสหลักที่เรียกว่า “ทุนนิยมบริโภค” ซึ่งควบรวมมาพร้อม “ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย” อย่างไรบ้าง สุดๆในข้อเสนอของเขาก็คือ การสรุป “แก่น” ตำราอลังการศาสตร์ซึ่งเป็นตำราการเขียนเชิงสร้างสรรค์เล่มสำคัญเล่มหนึ่งของอินเดียที่มีการถ่ายทอดสู่สังคมไทยมานานแล้วว่า ข้อสรุป 3 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคำถามที่ว่า นักเขียนที่ดีควรจะเขียนเรื่องเกี่ยวอะไรบ้าง งานเขียนชิ้นนั้นจึงจะมีคุณค่า เขาบอกตำราอลังการศาสตร์ตอบว่า ให้เขียนถึง 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง เขียนถึงความรู้ที่ควรรู้ สอง เขียนถึงความคิดที่มีประโยชน์ และ สาม เขียนถึงเรื่องที่ช่วยพัฒนาอารมณ์ของคนให้มีเจตคติที่ดีที่สร้างสรรค์ต่อชีวิตและสังคม อะไรคือความรู้ที่ควรรู้ และอะไรละคือความคิดที่มีประโยชน์?