สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง เมื่อเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน จากการระบาดอย่างหนักในประเทศเพื่อนบ้านทำให้มีการลักลอบข้ามแดน และการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า ถ้าดูตามสถานการณ์ เราคงหนีไม่พ้นในการระบาดระลอก 2 ที่จะต้องเตรียมรับมืออย่างเต็มที่ เนื่องจากขณะนี้การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก วันละกว่า 2,000 ราย และอยู่ประชิดชายแดน มีการพบภายในประเทศแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ เหตุการณ์แบบนี้ก็คงจะมีอีก เราได้เปิดเกมรุกเต็มที่ ทั้งนี้ประเทศในยุโรปมีการระบาดระลอก 2 บางเมืองก็มีการปิดเมือง ปิดสถานบันเทิง ผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 3-4 วันล้านคน มาตรการต่างๆในประเทศไทยก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่จะลดการระบาดลงได้
“จากการระบาดในระลอกแรก เราได้เรียนรู้ว่า การล้างมือ การใช้แอลกอฮอล์เจล การใส่หน้ากากอนามัย การกำหนดระยะห่างของบุคคล ทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้เหตุการณ์ต่างๆ เราจะยังคงทำได้เหมือนเดิมหรือไม่ ทุกคนจะต้องช่วยกัน รอเวลาที่เราจะมียารักษาได้ดี หรือมีวัคซีนในการป้องกัน ก็น่าจะเป็นกลางปีหน้า เศรษฐกิจก็มีความจำเป็นที่จะทำให้ทุกคนอยู่ได้ เราจะช่วยกันดึงเวลาได้มากน้อยแค่ไหน”
ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีนล่าสุด น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนไทย โดยมีความพยายามผลัดดันให้ประชาชนชาวไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) การผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งการผลิตวัคซีนนั้น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเริ่มทดลองกับมนุษย์แล้ว
สำหรับความร่วมมือนี้ ไทยและออกซฟอร์ด จะใช้โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นแหล่งผลิตวัคซีน โดยการลงนามครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือด้วยการประสานงานของเอสซีจี ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมายาวนาน และในหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดยังได้ให้สิทธิ์ประเทศไทยในการจัดจำหน่ายวัคซีนให้แก่ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านการสาธาณสุข มีความสามารถที่จะใช้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมีความสำคัญต่อประชากรโลก และจะทำให้คนไทยได้รับวัคซีนเป็นประเทศแรกๆของโลก นอกจากนี้ ยังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัย ซึ่งแสดงถึงความคืบหน้าไปอีกขั้นในการจัดหาวัคซีนวิจัยมาใช้ในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหาวัคซีนหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น การจองล่วงหน้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนการผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพื่อให้ได้วัคซีนอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเล็งเห็นว่าวัคซีน มีความสำคัญในการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกขณะนี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวดี เป็นความหวังให้กับคนไทย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องควบคุมและเร่งขจัดไม่ให้เป็นเงื่อนไข ในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกเหนือไปที่ทุกคนร่วมมือในการป้องกันตนเองแล้ว ทุกภาคส่วนต้องขันนอตอย่างเข้มข้น เพื่อให้ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้หากเกิดการระบาดระลอก 2 เพราะพิษเศรษฐกิจร้ายแรงพอๆกับพิษโควิด