ความหวังของผู้คนในสังคม ในเวลานี้คือความต้องการที่จะได้เห็น "ทางออก" จากวิกฤติขัดแย้ง ระหว่าง "รัฐบาล" กับ "ผู้ชุมนุม" ในนามคณะราษฎร ที่ปรับยุทธวิธีการชุมนุมเคลื่อนไหว จนทำให้ "ฝ่ายความมั่นคง" ไล่ตามไม่ทัน ไม่ต่างจากสภาพการณ์ที่เรียกว่า "แมวไล่จับหนู"
เมื่อม็อบคณะราษฎรใช้วิธีระดมมวลชน ผ่านโซเชี่ยลนัดหมายตามจุดต่างๆ ทั้งในกทม.และในต่างจังหวัด อย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างไปจากการท้าทาย อำนาจพ.รก.ฉุกเฉิน ท้าทาย "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยิ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองคุกรุ่น เป็นทวีคูณ
เมื่อการชุมนุมวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี หรือจี้ให้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เท่านั้น แต่ข้อเรียกร้องยังไปไกลถึงขั้นที่ว่า จะให้มีการ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" ซึ่งเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย และสร้างความขุ่นใจให้กับ ประชาชนที่รักและเทิดทูนสถาบัน
ยิ่งการชุมนุมในแต่ละวันของม็อบคณะราษฎร มีทั้งป้ายและการปราศรัยของผู้ชุมนุมเองที่ใช้คำพูดจาบจ้วง ก้าวร้าว หยาบคายต่อสถาบันกษัตริย์ อย่างชัดเจน ยิ่งเป็นเหมือนการเติมเชื้อไฟ สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่รักสถาบันจนล่าสุดพบว่าในหลายจังหวัดเริ่มมีการปะทะกันระหว่างม็อบคณะราษฎร กับประชาชนที่สวมใส่เสื้อสีเหลืองออกมาแสดงจุดปกป้องสถาบัน
ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบออกร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 ซึ่งมีแนวโน้มว่าวันที่ 26-27 ต.ค.นี้จะเป็นไปได้มากที่สุด
แน่นอนว่าการที่รัฐบาลยอมไฟเขียวให้มีการใช้เวทีรัฐสภาเพื่อเป็นกลไกในการคลี่คลายปัญหาวิกฤติทางการเมือง ครั้งนี้ อาจเป็นเพียง "ความหวัง" ของคนบางกลุ่ม บางส่วนว่าที่ประชุมรัฐสภา อาจจะทำให้ "ฝ่ายค้าน" และ ฝ่ายรัฐบาล สามารถใช้เป็นเวทีการพูดคุยกันได้เพื่อหา "จุดลงตัว"
แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าการใช้เวทีรัฐสภา ในหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่ลงมติและไม่มีการลงมติ ก็ดูจะเป็นเพียง เวทีที่เปิดโอกาสให้ "นักการเมือง" ฝ่ายค้านฉวยจังหวะ "ถล่ม" รัฐบาล
และยิ่งเมื่อตลอดหลายวันที่ผ่านมา ยังพบว่า "นักการเมือง" ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเอง ต่างพากัน "โหนกระแส" การชุมนุมเคลื่อนไหว เพื่อทำคะแนนเท่านั้น ดังนั้นการเปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ที่คาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า จึงอาจไม่ใช่ "คำตอบ" ที่น่าพอใจนัก
สิ่งที่ต้องจับตามองจากนี้ไปจึงอาจไม่ใช่ท่าทีหรือข้อเสนอจากที่ประชุมรัฐสภา เพื่อถกเถียงหาทางออกให้กับบ้านเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องไม่ลืมว่า "สัญญาณ" จาก ผู้ชุมนุมที่เชื่อมโยงไปกับ "นักการเมือง" พรรคฝ่ายค้านในสภาฯต่างหาก ว่าจะยอมวางข้อเรียกร้อง การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือไม่
ขณะเดียวกัน ยังต้องจับสัญญาณจาก ฝ่ายรัฐบาลผ่านท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ อีกด้วยว่า เมื่อยอมให้ไฟเขียวเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ แล้วก็ตาม แต่การบังคับใช้กฎหมาย จากนี้ไปจะเดินหน้าด้วยความแข็งกร้าว มากน้อยแค่ไหน
โดยเฉพาะการดำเนินการกับ "แกนนำ" ไปจนถึง "ไอ้โม่ง" ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเชื่อมโยงกับขบวนการล้มล้างสถาบัน อย่างเข้มข้น ดุเดือดมากน้อยแค่ไหน !?