แสงไทย เค้าภูไทย
ม็อบดาวกระจายคณะราษฎรยังเดินหน้าชุมนุมกันต่อ แม้นายกฯจะมีท่าทีอ่อนลงพร้อมเจรจา ขณะที่สภาฯเปิดสมัยประชุมวิสามัญหาทางออก แต่มีปัญหาว่า จะเจรจากับใครในม็อบเพื่อยุติความเคลื่อนไหว เพราะยังไม่รู้ตัวบงการและผู้สนับสนุนม็อบตัวจริง
เพราะขณะนี้แต่ละม็อบไม่มีแกนนำ เหตุแกนนำตัวจริงพาเหรดเข้าคุกกันหมด
แกนนำระดับรองๆในแต่ละม็อบ ต่างก็ไม่มีวุฒิภาวะพอจะเจรจากับฝ่ายรัฐบาลได้
จึงอาจแค่ยื่นข้อเรียกร้องให้ทั้งรัฐสภาฯและรัฐบาลนำไปพิจารณา ตัดสินใจ
ถ้าการตัดสินใจของสองอำนาจหลักไม่เป็นที่พอใจ ก็จะออกมาประท้วงกันใหม่
มีการเอ่ยอ้างถึงผู้หนุนหลังม็อบจากต่างชาติซึ่งมุ่งไปที่สหรัฐอเมริกา โดยตั้งสมมติฐานว่า สหรัฐฯต้องการยึดไทยเป็นฐานต่อต้านจีนในอาเซียน
อาจจะมีส่วนบ้าง แต่ไม่ใช่โดยตรง เพราะองค์กรที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ส่วนใหญ่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ เช่นองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรนิรโทษกรรมระหว่างประเทศ ฯลฯ
องค์กรเหล่านี้ สหรัฐฯเป็นชาติที่บริจาคเงินลงขันให้มากที่สุด จนดูคล้ายกับสหรัฐฯเป็นเจ้าของ
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว สหรัฐฯไม่ชอบรัฐบาลพลเรือนของไทยนัก
เหตุจากสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เคยมาจุ้นจ้านสั่งโน่นสั่งนี่ เลยโดนทักษิณด่ากลับว่า “อเมริกาไม่ใช่พ่อ(กู)”
ต่างจากรัฐบาลทหาร อย่างกรณีพลเอกประยุทธ์ ที่เกิดและ เติบโตมาในช่วงสงครามเกาหลีที่ไทยส่งทหารไปร่วมประจำการกับทหารพันธมิตรที่เส้นขนานที่ 17
เป็นนายทหารระดับคุมกำลังในช่วงหลังสงครามเวียดนาม
ความผูกพันกับกองทัพอเมริกามีมากจนถึงกับเรียกได้ว่าสหรัฐอเมริกาเลี้ยงกองทัพไทยทุกเหล่าทัพมาตั้งแต่สงครามเย็น
แม้ปัจจุบันนี้ ความผูกพันนั้นก็ยังมีอยู่ เห็นได้จากกองทัพไทยส่งทหารไปฝึกที่ฮาวาย เมื่อกลับมาต้องถูกกักตัว 14 วัน
ขณะที่ทหารอเมริกันที่มาฝึกซ้อมร่วมรบกับทหารไทย 110 นายขอใช้สิทธิพิเศษไม่ยอมกักตัว 14 วัน จนเกิดการโวยวายกันขึ้น ลงท้ายต้องยอมรับ
แต่ละปีมีการฝึกร่วมเช่นคอบร้าโกลด์ รามสูร เป็นต้น ซ้อมรบกันจบแล้ว ทหารอเมริกันกลับบ้านตัวเปล่า ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำมาร่วมซ้อมรบให้ทหารไทยทั้งหมด
ส่วนกับจีนนั้น ความสัมพันธ์ในด้านทหาร เป็นไปในลักษณะการซื้ออาวุธมากกว่า ดังเห็นได้จากการที่มีหน่วยจัดซื้อ 20 นายไปอยู่ประจำที่จีน
คนไทยมารู้ว่ามีทหารฝ่ายจัดซื้ออาวุธจากไทยก็เมื่อตอนที่กองทัพไทยส่งเครื่องบินไปรับกลับช่วงโควิด-19 ระบาดหนักที่อู่ฮั่น
การที่ไทยไม่มีความผูกพันกับจีนทางการทหารอย่างแนบแน่นเหมือนกับสหรัฐนั้น เหตุจากยังฝังใจว่า จีนยังคงนโยบายแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่
ขณะที่เวียดนามปลดแอกจีนมานานแล้ว กลายเป็นทุนนิยมเต็มตัว แม้ครั้งหนึ่งจะเคยถูกจีนทำ “สงครามสั่งสอน” ฐานไม่อยู่ในโอวาท
กับกัมพูชา จีนก็ไปสร้าง “มินิไชน่า”ที่สีหนุวิลล์ รวมทั้งครอบงำเศรษฐกิจ แทบจะทุกด้าน ล่าสุดซื้อข้าวจากกัมพูชามากกว่าซื้อจากไทย
การสกัดกั้นอิทธิพลจีนในอาเซียนนั้นสหรัฐฯห่วงแต่ฟิลิปปินส์ที่มีอาณาเขตอยู่ในทะเลจีนใต้โดยตรงเท่านั้น ส่วนเวียดนามนั้น ยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนจากสงครามในอดีตอยู่
สหรัฐฯจึงให้ความสำคัญต่อเวียดนาม การเจรจาระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์กับประธานาธิบดีคิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือครั้งหลังสุดจึงใช้เวียดนามเป็นสถานที่เจรจาเพื่อเอาใจเวียดนาม
ต่างจากไทย ที่ทรัมป์ให้ความสำคัญเฉพาะผู้นำคนเดียว คือพลเอกประยุทธ์ ที่พอยึดอำนาจได้ ก็ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมเยือนถึงทำเนียบขาว
คุยกับเผด็จการคนเดียวรู้เรื่องดีกว่าคุยกับคนทั้งสภาฯ
สหรัฐฯ โดยเฉพาะทรัมป์ จึงชอบที่จะให้ไทยเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารมากกว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน
จึงยังต้องจับตากันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 พฤศจิกายน ศกนี้
จะเป็น game changer หรือไม่หาก โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้ง ?