รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุผลที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง โดยมีข้อกำหนด 4 ข้อ 1. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 2. ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร 3. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดและ 4. ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ และให้ออกจากอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร ของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติเกิดความสับสน ต่างโทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงความชัดเจนอย่างต่อเนื่องว่าจะสามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ในประเทศไทยได้บ้าง และต้องการให้รัฐบาลประกาศเงื่อนไขต่างๆ ภายใต้กฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดความสับสนในการประกอบธุรกิจของต่างประเทศในประเทศไทย ทั้งนี้การชุมนุมแบบมีเงื่อนไขทำให้เกิดความวุ่นวายไม่ควรเกิดขึ้น เพราะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศอย่างแน่นอน ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่กังวลสถานการณ์การการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่ยืดเยื้อรุนแรง แต่ต้องการให้รัฐบาลติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอย่าให้เกิดความรุนแรงหรือถ้าเกิดขึ้นต้องระงับเหตุการณ์ให้ได้รวดเร็วอย่าให้เกิดเหตุการณ์กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือกระทบตลาดเงินตลาดทุน ส่วนนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.ไม่ได้ประเมินความเสี่ยงเรื่องการเมืองว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีนี้อย่างไร เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นต้องจับตาดูใกล้ชิดว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นความจำเป็นของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเข้าไปดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการประกาศเฉพาะพื้นที่ ภาคธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เวลานี้ยังมองยาก อย่าให้คาดการณ์ตอนนี้ เราเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อย และจบเร็วที่สุด หากยืดเยื้อบานปลาย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ จะทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่กำลังรอการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ