หลังจากที่ "พรรคฝ่ายค้าน" และ "ฝ่ายรัฐบาล" ใช้ความพยายามและเรียกร้องให้ใช้เวทีนิติบัญญัติเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง ในยามวิกฤติได้สำเร็จเมื่อ มีท่าที "ขานรับ" จากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในท่วงทำนองสนับสนุน "รัฐบาลยืนยันในวันนี้ให้การสนับสนุนการเปิดประชุมสภาวิสามัญ เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกัน นำข้อเท็จจริงมาพูดจากัน ดีกว่าให้เป็นเรื่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด และยิ่งวันนี้ปัญหาประเทศไทยมีอยู่หลายประการด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้ และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภา ผมขอยืนยันตรงนี้ โดยวันที่ 20 ต.ค.จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเตรียมการให้พร้อม" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุกับสื่อ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.วันเดียวกับที่ "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา ได้เรียกตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนของคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน ที่รัฐสภา ก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่า ประธานรัฐสภาจะทำหนังสือถึง นายกฯเพื่อขอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ ให้ทันการประชุมครม.วันนี้ (20ต.ค.63) การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมในนามกลุ่มราษฎร ตลอดหลายวันที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. จนนำมาสู่วันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากระชับพื้นที่ ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16ต.ค.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นชนวนที่เร่งให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมท้าทายอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากขึ้นด้วยการนัดรวมตัวทำกิจกรรม ในช่วงเย็นของทุกวัน รวมทั้งยังกระจายไปยังต่างจังหวัด ทำให้บรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่าง รัฐบาลกับผู้ชุมนุมยิ่งตึงเครียดมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อความร้อนแรงทางการเมือง บนถนนกำลังถูกดึงเข้าสู่รัฐสภาในวาระการเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ อาจไม่ใช่ความหวังได้ว่านี่คือทางออก ที่แท้จริง เพราะต้องไม่ลืมว่า "ข้อเรียกร้อง" จากผู้ชุมนุมนั้น ใช่ว่า รัฐบาลที่มีพล.อ.ประยุทธ์ ยืนนำหน้าอยู่จะตอบสนอง ให้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก หรือยุบสภาฯ และโดยเฉพาะให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่แทบเกิดขึ้นไม่ได้ !! แต่ในขณะที่รัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติใหญ่ เมื่อมีผู้ชุมนุมผุดขึ้นในหลายจังหวัด แทบทุกภาค ตะโกนขับไล่ให้ลาออก ก็กลับปรากฎว่า ฝ่ายตรงข้าม ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและผู้ชุมนุม บางส่วน ยังเลือกไปกดดัน "3พรรคร่วมรัฐบาล"ให้ตัดสินใจ เลิกสนับสนุนรัฐบาล ทันที ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ทั้งการกดดันซึ่งหน้า ไปจนการจี้ผ่านโลกโซเชียล จนทำให้ หัวหน้าพรรค ทั้ง3พรรค ต้องตอบคำถาม พร้อมทั้งแสดงจุดยืน ซึ่งต่างยึดหลักใหญ่คือการทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง และเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ แรงกดดันที่กำลังเกิดขึ้นกับพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งจากการเมืองในและนอกสภาฯ ในห้วงเวลาที่กำลังรับมือกับวิกฤติที่ตะโกนขับไล่อยู่บนถนนนั้นจะว่าไปแล้วก็เป็นกลยุทธ์ที่ม็อบเสื้อสีต่างๆล้วนแล้วแต่เคยใช้มาก่อน ในอดีต เพียงแต่วันนี้สถานการณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังแบกรับยังพ่วงด้วยประเด็นที่มีความเปราะบาง และล่อแหลม เมื่อผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน ซึ่งจุดนี้นี่เองที่จะกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" จุดชนวนให้เกิดม็อบชนม็อบได้ในที่สุดหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ การประกาศท่าทีด้วยความแข็งกร้าวจากพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชัดถ้อยชัดคำว่า "ผมไม่ลาออก" โดยมีรัฐมนตรีที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลยืนขนาบอยู่ด้านหลัง อาจไม่ใช่เพียงแค่การส่งสัญญาณไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังต้องการส่งสารไปถึง "พรรคร่วมรัฐบาล" ว่า วันนี้นายกฯ ยังไม่ถอดใจและยังไม่ยอมแพ้ หากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนที่คิดจะฉวยโอกาส "เล่นเกม" โปรดคิดอีกครั้ง !