ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2563 ระบุว่า ภาคธุรกิจได้เสนอแนะต่อรัฐบาล 6 ข้อ ประกอบด้วย
1.ให้ควบคุมราคาสินค้า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงและไม่คึกคัก
2.แนวทางหรือมาตรการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ควรทำอย่างรัดกุม โดยไม่ปล่อยให้โควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศอีกระลอก
3.ขอให้ดูแลสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
4.รัฐควรเร่งใช้งบประมาณ และเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
5.หาแนวทางลดภาระหนี้นอกระบบของครัวเรือน
และ6.กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้อยากเข้ามาติดต่อธุรกิจกับประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็คาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ 3 มาตรการสำคัญ ในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศประกอบด้วย
1.มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชน 14 ล้านคนคนละ 1,500 บาท (เดือนละ 500
บาทระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม)โดยกระทรวงการคลังได้จ่ายงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563
2.มาตรการคนละครึ่งกระตุ้นการใช้จ่ายโดยประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่งรัฐบาลช่วยออกอีกครึ่งหนึ่งวันละ 150 บาทต่อคนรวม 3,000 บาทตลอดโครงการ(จำกัด 10 ล้านสิทธิ)เริ่มลงทะเบียนร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจเข้าร่วมโครงการเมื่อวัน 1 ตุลาคม 2563 และจะเปิดให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และเมื่อได้รับสิทธิ์แล้วจะสามารถใช้จ่ายได้ระหว่าง 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ www.คนละครึ่ง.com
และ3.มาตรการช้อปดีมีคืนประชาชนนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทเริ่ม 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในมาตรการ“คนละครึ่ง”และ“มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”โดยมีสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,บุหรี่,ค่าน้ำมัน,ค่ารถยนต์รถจักรยานยนต์และเรือ,ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งรูปแบบตีพิมพ์และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์,ค่าบริการนำเที่ยวและค่าโรงแรมที่พัก
โดยทั้ง 3 มาตรการที่ออกมาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 28 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เกิดการใช้จ่ายการผลิตการจ้างงานและสร้างรายได้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศ
ขณะที่ในการประชุมมอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังครั้งแรก ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่าได้เตรียมมาตรการของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน โดยถือเป็น นโยบายระยะเร่งด่วนหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย เพื่อรองรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ คาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี จะต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจไทยได้ทันเวลา