เสือตัวที่ 6
การสืบทอดประวัติศาสตร์เชิงแบ่งแยกกับรัฐไทยมาอย่างยาวนาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มี โดยมีขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากรัฐไทย พยายามสอดแทรกอย่างเป็นขบวนการ แต่งเติมให้พื้นที่ในชุมชนแต่ละแห่ง มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นเป็นของตนเอง โดยเน้นการสร้างความเห็นที่แตกต่าง เพื่อแบ่งแยกความคิดของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานออกจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ บนพื้นฐานของการสร้างความหวาดระแวงระหว่างกัน สู่ความกินแหนงแคลงใจกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น รูปแบบการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ จึงต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการเช่นกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการของภาครัฐ และมีความแนบเนียนมากเป็นพิเศษ อาทิ การใช้กิจกรรมต่างๆ ที่สอดรับกับบริบทในพื้นที่แต่ละชุมชน เพื่อสร้างโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความหวาดระแวงของคนในชุมชน และกิจกรรมดังกล่าวนั้น เป็นกิจกรรมที่พี่น้องทั่วโลกรู้จักและให้การยอมรับกันเป็นอย่างดี นั่นคือ กิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยที่ต่อเนื่องจากตอนที่ 2 ซึ่งสามารถที่จะเข้าถึงหัวใจคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อันการเข้าถึงหัวใจของคนในพื้นที่นั้น จะเป็นประตูไปสู่โอกาสในการทำความเข้าใจระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ตามบริบทและวิถีชีวิตที่พี่น้องในพื้นที่ต้องการได้อย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมสามารถเข้าถึงประชาชนผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และเพิ่มความแข็งแกร่งในการเข้าถึงประชาชน ของหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น โดยมีรูปแบบการดำเนินการทางอ้อม ตามขั้นตอน ได้แก่ 1) ชี้เป้า กล่าวคือ แม้ว่าในพื้นที่ชุมชน จะมีการรวมกลุ่มกิจกรรมและดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกันบ้างแล้ว ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังคงมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล ที่อาจมีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอพียง ตามแต่พื้นที่กิจกรรมนั้นจะร้องขอ เช่นการช่วยใช้เครื่องมือหนักปรับพื้นที่ การให้งบประมาณในการก่อสร้างโรงเรือน เป็นต้น หรือพัฒนาชุมชน ที่สนับสนุนการให้เกิดการรวมกลุ่มกิจกรรมและการให้ความรู้ในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ รวมทั้งการศึกษานอกโรงเรียน ที่อาจสนับสนุนเทคนิควิธีในการดำเนินกิจกรรมตามความต้องการของชุมชน หรือการรวมกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงกันเองในชุมชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว อาจยังไม่สามารถต่อยอด ให้มีกลุ่มกิจกรรมอาชีพอื่นๆ ที่ยังมาครอบคลุ่มความสามารถ หรือการมีทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบ รวมทั้งต้นทุนทางบริบทของชุมชนอยู่ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ จำเป็นจะต้องมีการชี้เป้า นำทางให้ชุมชน เล็งเห็นศักยภาพที่สอดคล้องกับบริบทที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง ตลอดจนชี้เป้าให้หน่วยงานภาครัฐกันเองบางหน่วย ที่มีศักยภาพหรือความชำนาญเฉพาะ ที่อยู่ในพื้นที่ ให้เห็นเป้าหมายใหม่และเข้ามาเติมเต็มกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
2) เสริมความรู้ โดยการรวมกลุ่มกิจกรรมอาชีพในชุมชนที่จะให้เกิดความยั่งยืนนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการให้ความรู้ และฝึกฝนทักษะในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้นๆ ให้กลุ่มกิจกรรมสามารถดำเนินการได้อย่างมีหลักวิชาการ อันเป็นการลดความเสี่ยงที่การดำเนินกิจกรรมจะล้มเหลว ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเองของชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมตามการชี้เป้า แนะนำของหน่วยงานภาครัฐ ในทางตรงข้าม หากการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอาชีพ สามารถดำเนินการได้อย่างคงเส้นคงวาและมีคุณภาพ มีมาตรฐานที่ยอมรับได้ ก็จะมีโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับชุมชนในแง่มุมอื่นๆ รวมทั้งจะสร้างโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ มีช่วงจังหวะในการเข้าหา สานสัมพันธ์กับชุมชนผ่านการอบรมให้ความรู้ ฝึกฝนทักษะการปฏิบัติกิจกรรม ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น
3) ประสานงาน การดำเนินงานที่มีหน่วยงานหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานงานกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเปราะบางในด้านความรู้สึกนึกคิด และในสถานการณ์ที่ต้องการการเข้าถึงจิตใจของพี่น้องประชาชนเป้าหมาย ยิ่งต้องมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกันมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน หรือเกิดช่องว่างในการดำเนินการที่อาจทำให้ผู้ไม่หวังดี ใช้เป็นช่องทางในการสร้างทรรศนะในทางตรงข้ามกับรัฐ ซึ่งในพื้นที่นี้ พบว่า หน่วยงานกลางที่จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ หน่วยงานด้านความมั่นคง นั่นคือ หน่วยกำลังในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และนอกจากการประสานงานที่ต้องเน้นเป็นพิเศษระหว่างหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังรวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับกลุ่มกิจกรรม หรือชุมชนเป้าหมาย ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างความคาดหวังของชุมชนกับการตอบสนองของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการประสานงานนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ด้วยการคอยแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้ยังคงเดินหน้าด้วยความราบรื่นอีกด้วย
ดังนั้น การเข้าถึงประชาชนผ่านการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในที่พิเศษ ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุนแรง อันเกิดจากกลุ่มคนที่ดำเนินการสร้างความแตกแยกมาอย่างยาวนานและกระทำอย่างเป็นขบวนการนั้น จำเป็นที่ฝ่ายรัฐจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นประตูบุกเบิกไปสู่การเข้าถึงหัวใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่สอดรับกับความต้องการในแต่ละชุมชนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในห้วงเวลานั้น ให้สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีตามวิถีท้องถิ่น และเข้าถึงหัวใจพี่น้องในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง