เช้ามืดเวลา 04.30 น. ของวันที่ 15 ต.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดยแกนนำในนามคณะราษฎร2563 ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นมีการไล่จับกุมแกนนำรวมทั้งสิ้น 22 คน หมายความว่าจากนี้ไปนอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ยังเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทหาร เข้ามาร่วมเสริมกำลังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แน่นอนว่า ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ครั้งนี้ตามมาด้วยข้อห้ามต่างๆ ทั้งการห้ามรวมกลุ่มกันเกินกว่า 5 คน ไปจนถึงการห้ามไม่ให้มีการชุมนุม แต่ดูเหมือนว่า ภายหลังจากที่แกนนำทั้ง22 คนถูกจับกุมตัวไปแล้ว กลับไม่สามารถกำราบม็อบคณะราษฎร ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่เกิดการนัดหมายรวมตัวของผู้ชุมนุม มายังพื้นที่ราชประสงค์ โดยการนำของ "ไมค์ ระยอง" หรือจารุพงศ์ จาดนอก แกนนำที่ไม่ได้ถูกจับกุม ทำหน้าที่เป็นแกนนำ ปลุกมวลชนออกมายึดพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในช่วงเย็น เท่ากับว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเช้ามืด กำลังถูกท้าทายจากมวลชนที่ประกาศตัวต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ขณะที่"บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงาน ของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เองได้ตั้งวอร์รูม เรียก "ฝ่ายความมั่นคง" หารือที่มูลนิธิป่ารอยต่อ ฯ เพื่อรับมือกับการเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎร ที่ยังไม่ยอมยุติการชุมนุม อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากการขยับเกม กระชับวงล้อมจากพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อตีกรอบม็อบด้วยการใช้กฎหมายขึ้นมาดำเนินการแล้ว ยังน่าสนใจว่า "ฝ่ายการเมือง" ที่อยู่เชื่อมโยง ทั้งที่เปิดหน้า และหลบอยู่ข้างหลังกลุ่มเยาวชน นักศึกษาที่ออกมานำม็อบเองนั้น กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูก "กดดัน" ให้ต้องออกมานำหน้าการชุมนุม ต่อจากนี้แทน แกนนำกว่า 20 ชีวิตที่ถูกจับกุมหรือไม่ โดยเฉพาะ "ธนาธร รุ่งเรืองกิจ" และ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" แกนนำคณะก้าวหน้า รวมทั้ง แกนนำของพรรคก้าวไกล ที่แวะเวียนกันไปให้กำลังใจม็อบกันถึงหน้าเวทีปราศรัย มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เพราะอย่าลืมว่า เมื่อแกนนำที่นำการเคลื่อนไหวถูกจับกุม คงเหลืออยู่อีกไม่กี่ราย หากม็อบคณะราษฎร ยังหวังที่จะชูธงรบกับรัฐบาล ไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันแล้ว จะต้องหาทาง "ยืนระยะ" การเมืองนอกสภาฯเอาไว้ให้ได้ ทั้งนี้น่าสนใจว่าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ของพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ เป้าหมายหลักอาจไม่ได้อยู่ที่แกนนำระดับนักศึกษา ที่เปิดหน้าเล่นเท่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ม็อบคณะราษฎร สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง และยกระดับความรุนแรง เอื้อมไปแตะถึง "สถาบัน" ย่อมมาจากปัจจัยที่เป็นทั้ง "น้ำเลี้ยง" และ "แนวความคิด" ของฝ่ายการเมือง ตลอดจน "นักคิด" ที่อยู่เบื้องหลัง ดังนั้นเมื่อมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร้ายแรงฯ สิ่งที่จะตามมา อาจเป็น "ยาแรง" ที่จะเกิดเอฟเฟกซ์อีกหลายระลอก !