กรณีพบผู้ติดเชื้อเป็นชาวเมียนมา ขับรถเข้ามาส่งสินค้าในแม่สอด จ.ตาก ทำให้และมีผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการกักตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยระลอก 2
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อู เทซาร์ ออง เจ้าหน้าที่เขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา กล่าวในวันนี้ว่า มีผู้อพยพแรงงานชาวเมียนมาเดินทางกลับจากไทยผ่านสะพานมิตรภาพระหว่างสองประเทศแล้วกว่า 120,000 คน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)แค่เฉพาะวันที่ 23 มี.ค. - 7 ต.ค. โดยพบผู้เดินทางกลับที่มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก จำนวน 70 ราย
อย่างไรก็ตาม นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองสถานการณ์ในเมียนมาร์ที่มีความรุนแรงขึ้นมาก โดยมีผู้ติดเชื่อเพิ่มไปอีกถึง 1,910 คน ตายเพิ่ม 48 คน ตอนนี้ยอดรวมถึง 27,974 คน ตายไปมากถึง 646 คน อัตราตายคิดเป็น 2.3% ในส่วนของยอดติดเชื้อสะสมแซงออสเตรเลียไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ภาพที่เห็นตอนนี้คือ หนึ่ง การลักลอบเข้าเมือง และการตรวจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอง จำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศ ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ สาม ข้อมูลที่ผ่านมาบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการติดเชื้อในประเทศ โดยระบุต้นตอไม่ได้ และไม่ทราบจำนวน ไม่ทราบการกระจาย ไม่ทราบสถานการณ์ที่แท้จริง สี่ การเปิดประเทศ มุ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อหวังรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการ์ดภายในประเทศไม่แข็งแรง แม้ปัจจุบันจะยังเลื่อนไปรับตอนปลายตุลาคม แต่จริงๆ แล้วก็มีเข้ามาในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือทำงาน
น.พ.ธีระ ประเมินสถานการณ์ตอนนี้ หากให้คำจำกัดความ จะใช้คำว่า “รอเวลาอิ่มตัว” (Time to saturated concentration) ถ้าระบบรับโหลดในการดำเนินการคัดกรองกักตัวจำนวนคนมากถึงระดับหนึ่งไม่ได้ จะเกิดปัญหาด้านมาตรฐาน ถ้าจำนวนคนมากถึงระดับหนึ่ง จะเห็นปัญหาการหลุดรอดมากขึ้นหรือชัดเจนขึ้น”
ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การติดเชื้อในเมียนมาน่าเป็นห่วง เนื่องจากเพิ่มขึ้นเป็นก้าวกระโดด ยากต่อการควบคุม วันละมากกว่า 2500 คน ยอดรวมเกือบ 3 หมื่นคนแล้ว เสียชีวิตประมาณ 2 % ไทยมีพรมแดนติดต่อที่ยาวไกล จึงเป็นความยากลำบากพอสมควร การเคลื่อนย้ายของคน ที่ไม่ผ่าน การตรวจสอบแบบเข้มงวด หรือลักลอบเข้ามา
การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 สำหรับประเทศไทย จึงต้องอาศัยระบบเฝ้าระวังโรคที่รวดเร็ว และเข้าถึง การตรวจวินิจฉัยจะต้องเป็นเชิงรุก โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุก ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ อาจจะต้องทำ เพราะถ้าผู้ป่วยหลุดเข้ามา จะได้ควบคุมได้เร็ว ไม่เกิดการระบาดแพร่กระจายต่อไป ส่วนการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจนั้น ถ้ามีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงไม่มีนักท่องเที่ยวที่ไหนอยากจะเข้ามา
จากระยอง สู่แม่สอด ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดในวงกว้าง หรือ ซูเปอร์สเปรดเดอร์ กลับมาสร้างความวิตกกังวลให้กับสังคมไทยอีกครั้ง แต่กระนั้น ไม่เพียงการจันน็อตระบบป้องกันต่างๆ ให้เข้มแข็ง เข้มงวด ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ในการป้องกันตนเอง หรือที่มักพร่ำบอกกันว่า “การ์ดอย่าตก”นั้น เป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ เราการ์ดตกแล้วหรือยัง มาสำรวจตนเองกันเถอะ