สถาพร ศรีสัจจัง
“ เราไทย อักษรไทย/เราแต่ง-ซิฮา!”
ใครเคยได้ยิน “โคลง” บาทนี้บ้าง?
ที่ถามขึ้นมาก็เพราะ ทุกครั้งที่ตัวเองได้ยินโคลงบาทนี้ ก็ให้รู้สึกเหมือนวูบวาบในใจขึ้นทุกครั้ง ความรู้สึกที่เกิดจากการถูกกระทบโดยบทกวีบทนี้ก็คือ รู้สึกภาคภูมิและตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า “ภาษาไทย” ที่ดูเหมือนใครๆในยุค “ตะวันตกนิยม” (Westernism) ที่นักปราชญ์ร่วมสมัยคนสำคัญของไทยคือ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เรียกว่า “พวกไม่รู้จักเลือกแก่นทิ้งกาก” อย่างคลุ้มคลั่งในปัจจุบัน จากแรงโหม “โปรแกรมให้เชื่อ” ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยเปิดเผยและเร้นแฝง ของการโฆษณาชวนเชื่ออันทรงพลังยิ่ง ด้วยเครื่องมือสื่อสารและระบบการศึกษายุคทุนจักรพรรดินิยมสมัยใหม่แบบดิจิทัล ของบรรดาชาติจักรวรรดิทั้งหลาย
โดยเฉพาะจักรวรรดินิยมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อย่างกลุ่มประเทศที่ชื่อ “ยุโรป” และ “สหรัฐอเมริกา”!
เราจึงพบว่า เหล่าชนชั้นนำของเรา ที่เป็นกลุ่มคนผู้กุมอำนาจทั้งทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และระบบการศึกษาของชาติ(บรรดา “ด็อก” ทั้งหลาย?) ล้วนแล้วแสดงให้สังคมเห็นเป็นตัวอย่างว่าพวกเขา “นิยม” วัฒนธรรมต่างชาติ ทั้งในเรื่องของกินของใช้ และที่สำคัญคือ “การใช้ภาษา” แบบ “ฝรั่งคำไทยคำ” ประมาณนั้น !
ดังนั้นเมื่อถึงวันนี้ เด็กๆรุ่นใหม่ของเราที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวก “เจน วาย” อะไรนั่น จึงมีชื่อเล่น(หลายคนชื่อจริง)เป็นฝรั่งมังค่ากันไปหมดแล้ว ชื่อสินค้า ชื่อร้านค้า ชื่อกิจการต่างๆที่ปรากฏในทุกสายถนนทั้งในกรุงทั้งในหัวเมืองบ้านนอกก็ล้วนมีชื่อเป็นคำต่างชาติไปแล้วเกือบจะแทบทั้งสิ้น!
ปัจจัย 4 พื้นฐานของชีวิตชาวบ้านก็ล้วนเปลี่ยนไปรับเอาแบบแผนวัฒนธรรมจากต่างชาติมานิยมบูชาในทางปฏิบัติกันอย่างทั่วถ้วน!(แม้บางเรื่องจะลักลั่นอยู่บ้าง)
ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย!!
อย่างนี้ต่อให้ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมอีกสักสิบกระทรวงก็คง “เอาไม่อยู่” เพราะ “รัฐ” และ คนระดับนำของรัฐ นั่นแหละที่เป็นแบบอย่างต้นเหตุ ยิ่งพูดก็ยิ่งเศร้าและยิ่งเห็นอนาคตของประเทศว่าน่าจะรุ่งเรืองจำเริญแล้วเนาะ!
ก็บ่นไปอย่างนั้นแหละ,เอาเป็นว่า ตอนนี้ลองมาฟังเรื่อง “สวนกระแส” กันบ้างดีกว่า ผ่านไปเมืองสงขลาชายแดนใต้วันก่อน ได้ข่าวว่ามีคนจัดกิจกรรมเล็กๆ ให้กับเด็กๆที่สนใจเรื่อง “วรรณศิลป์ร่วมสมัย” หรือเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะการอ่านการเขียนหนังสือไทยนั่นแหละ
ที่จริงใครที่เรียนหนังสือมาบ้าง ก็คงพอจะรู้ๆกันนั่นแหละว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่บรรพชนสร้างสรรค์สืบสานกันมาไม่ต่ำกว่า 7 - 800 ปีก็คืองานศิลปะ และ 1 ใน 3 สาขาใหญ่ของงานศิลปะที่ว่าก็คือ “ศิลปะการเขียน” (ที่ส่งผลต่อการอ่าน และเป็นต้นตอที่สำคัญของศิลปะการแสดง) และงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับ “ศิลปะการเขียน” นี่แหละที่เรียกกันว่า “วรรณศิลป์”
กิจกรรมเกี่ยวกับการเอาเยาวชนมา “เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณศิลป์” ที่เมืองสงขลา ซึ่งฟังว่าครั้งนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 7เข้าแล้ว (ช่างท้าทายและสวนกระแสรสนิยมของยุคสมัยดีแท้!)จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 16-18 ตุลาคมศกนี้โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒธรรม นั้น จะจัดขึ้นที่โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ต อันเงียบสงบและสวยงาม ของคุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ คหบดีคนสำคัญแห่งเมืองสงขลา
โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ตที่ว่าตั้งอยู่ใกล้ๆกับเมืองสงขลาเก่าที่หัวเขาแดง ตรงตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร อยู่ตรง “หาดทรายแก้ว” ใกล้ๆบ้านพักส่วนตัวของท่านอดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้เพิ่งวายชนม์ ที่นี่น่าจะถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว คนที่ชอบความสงบเงียบแบบทะเลๆน่าจะลองแวะมาพักดูสักครั้ง
งาน “เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณศิลป์ฯ” ครั้งนี้ถือว่าเป็นงานชุมนุมบรรดานักเขียนและกวีซีไรต์ทีเดียว เพราะเห็นรายชื่อวิทยากรแล้ว ถ้าไม่เป็น “ซีไรต์” ก็ล้วนเคยเฉียดซีไรต์แบบเส้นยาแดงผ่าแปดมาแล้วทั้งสิ้น ตั้งแต่ “ดับเบิลซีไรต์” หมาดๆ ก็คือกวีคนที่ชื่ออังคาร จันทาทิพย์ นั่นไง ต่อด้วย เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ แห่ง “แม่น้ำรำลึก” และ จเด็จ กำจรเดช แห่ง “ แดดเช้าฯ” จนถึง วิสุทธิ์ ขาวเนียม และ โรสนี นูรฟารีดา เป็นอาทิ
ฟังว่างานนี้นอกจากจะรับนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดชายแดนเมืองใต้มา “เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเขียน” เพื่อ “เพาะสร้างและคัดเลือดเมล็ดพันธุ์วรรณศิลป์” ให้สังคมแล้ว ครูอาจารย์ที่ควบคุมนักเรียนมาร่วมก็จะได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ “ปัญหาส่งเสริมการอ่าน-เขียนในสถานศึกษา” อีกด้วย
อย่างนี้แหละที่จะช่วยเสริมสร้างคติอันดีงามที่ว่า “เราไทยอักษรไทย/เราแต่ง-ซิฮา!”
ใครผ่านไปทางสงขลาในช่วงเวลาดังกล่าว หรือใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องวรรณศิลป์ที่เป็นมรดกด้านศิลปะที่เก่าแก่และสำคัญสาขาหนึ่งของชาติไทย(ที่ไม่ค่อยจะมีใครสนใจและนิยมส่งเสริมมากนักในยุคปัจจุบัน)แม้จะไม่เข้าร่วมปฏิบัติการเต็มรูป แต่ผู้จัดฝากบอกมาว่า แค่จะแวะไปฟังภาคบรรยายหรือแวะไปพูดคุยเยี่ยมเยียนบรรดานักเขียนและกวีซีไรต์คนดังๆที่อุตส่าห์เดินทางไกลมาถึงสงขลาก็ย่อมจะเป็นที่น่ายินดี!!!