จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎร สร้างความวิตกกังวลให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมือง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สำนักข่าว บรูมเบิร์กออกรายงานวิเคราะห์ผลกระทบเงินบาทแข็งค่า มาจากปัจจัยการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและความกังวลที่เกิดขึ้นอีกครั้งเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ การเจรจา BREXIT กำหนดการดีเบตรอบสองของนายโดนัลด์ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน และบทสรุปของมาตรการ การเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อีกด้านหนึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน กันยายน2563 อยู่ที่ 50.2 จาก 51.0 ในเดือน สิงหาคม2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากปัญหาการเมือง ความกังวลสถานการณ์การเมืองจากการชุมนุมและการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี ดาวฉาย
แม้จะมีบางฝ่ายมองมุมบวก ว่าประเทศไทยผ่านวิกฤติการเมืองมาแล้วหลายครั้งหลายคราว ทุกภาคส่วนสามารถปรับตัวได้นั้น หากเป็นในสถานการณ์ปกติ คำกล่าวดังกล่าวอาจไม่เกินเลยนัก แต่ในสถานการณ์ที่ประเทศไทย ยังซมพิษไข้จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับหลายประเทศนั้น ปัญหาการเมืองจึงไม่ต่างโรคแทรกซ้อนที่ซ้ำเติม ที่แน่นอนว่า เมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง ย่อมมีความวิตกกังวลว่า สถานการณ์จะเป็นไปด้วยความสงบหรือไม่ และจะยุติดดยเร็วหรือยืดเยื้อยาวนาน
ในขณะที่ปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลเอง ที่ทำให้เว้นว่างผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวการคลังนานกว่า 1 เดือน ก่อนจะได้ตัวนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของภาคส่วนต่างๆ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายอาคม ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่ง เพราะรับรู้ถึงงานต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าจะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ค้างอยู่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งภาคเอกชนส่วนใหญ่มั่นใจในตัวนายอาคม ที่มีความโปร่งใสในทุกด้าน และจะสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยต่อสายตาต่างชาติได้แน่นอน
สำหรับงานเร่งด่วนที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขคือ การเร่งฟื้นฟูภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวให้กับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะหากภาครัฐไม่เร่งเข้ามาช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมจะส่งผลให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการเพิ่มมากขึ้นและจะกระทบต่อแรงงานที่จะมีจำนวนผู้ใช้แรงงานต้องตกงานเพิ่มตามมา และสำหรับธุรกิจการบินควรเร่งหามาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำ
แม้ภาคเอกชนจะให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รอให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะต้องไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะหากการเมืองยังพากลับไปสู่วังวนวิกฤติ หรือปราการป้องกันโควิด-19 ของไทยพังทลาย เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สามารถตื่นจากฝันร้ายเดิมๆ ได้เสียที