เสรี พงศ์พิศ www.phongphit คนไทยใช้โซเชียลมีเดียอันดับต้นๆ ของโลก มีสมาร์ทโฟนมากกว่าจำนวนประชากร ประเด็นอยู่ที่ว่า เราเป็นเพียง “ผู้ใช้” ที่สร้างกำไรและให้ข้อมูลทุกอย่างแก่เจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งเป็นต่างชาติ เงินไหลออกนอกประเทศ หรือเราจะนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์มากกว่าเพียงแค่สื่อสาร ดูหนังดูละคร จากโซเชียลมีเดียไปสู่ “โซเชียลการเกษตร” (social agriculture) ที่มาจากการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร ถ้าทำได้จริง จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรแบบหักโค่นของเดิม (disruptive) ซึ่งน่าจะเป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกรไทย อยู่ที่ว่าจะปรับตัวทำสมาร์ทฟาร์มได้หรือไม่เท่านั้น ยุคดิจิทัลนี้ ว่ากันว่าหมดยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาเร็วกินปลาช้า มาถึงยุคปลาฉลาดกินปลาโง่ หรือยุคของ “ปลาที่ใช่” ที่อยู่ถูกที่มาถูกเวลา ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็น “โซเชียล” ไปแล้ว โซเชียลมีเดียหักโค่นสื่ออนุรักษ์อย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี วันนี้ ใครๆ ก็เป็นเจ้าของ “สิ่งพิมพ์โซเชียล” “สถานีโซเชียล” ของตนเองได้ทางเว็บไซต์ ทางยูทูบ “โซเชียลแบงกิ้ง” ก็หักโค่นระบบธนาคาร ที่ต้องปิดสาขาและปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้อยู่รอดได้ และหันมาประยุกต์ฟินเทค ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ โซเชียลการเกษตรจะหักโค่นรูปแบบเดิมๆ ของการเกษตรไทย เห็นว่ากำลังเกิดและพัฒนาเร็วขึ้นในช่วงโควิดระบาดนี้ เกิดมีแอปฯ มีแพลตฟอร์มมากมายที่ช่วยกระจายสินค้าเกษตร เชื่อมผู้ผลิตกับผู้บริโภค ทำให้ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายแบบวินวิน ไม่มีคนกลาง เกษตรกรได้ราคาดี ผู้บริโภคก็ได้ราคาถูก และมั่นใจในผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะถ้าเป็นอินทรีย์ เวทีที่ผู้ผลิตผู้บริโภคมาพบกันบน “โซเชียลดิจิทัลแพลตฟอร์ม” เป็นการสร้างโอกาส สร้างตลาดให้การเกษตรไทย ปัญหาอยู่ที่ว่า โอกาสแบบนี้จะไม่ทำให้ “ปลาฉลาดกินปลาโง่” ได้อย่างไร คนที่คิดนวัตกรรมจะไม่เอาประโยชน์จากเกษตรกรที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในโลกดิจิทัล ทำอย่างไรไม่ให้ดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือที่ถ่างความเหลื่อมล้ำออกไปอีก คนฉลาดเอาเปรียบคนโง่ ผู้รู้เอาเปรียบผู้ไม่รู้ ถ้าเกษตรกรจะไม่เป็นเพียงแรงงานผู้ผลิตอย่างเดียว แต่เป็นผู้เล่นในโลกดิจิทัล เกษตรกรต้องเรียนรู้และปรับตัว อย่างวันนี้ที่มีแพลตฟอร์มเกษตรหลากหลาย แต่เกษตรกรก็ยังมีจำนวนน้อยมากที่ใช้เป็น สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรไม่เพียงแต่เข้าถึงโซเชียลมีเดีย ใช้สมาร์ทโฟนสื่อสารดูหนังดูละครเท่านั้น แต่ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้การเกษตรของตนเองด้วย ให้ “อ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล” (agri-digital literacy) คือมีความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานจนใช้งานได้ ไม่ถูกเขาหลอกหรือใช้ประโยชน์ทางเดียว นี่คือสิ่งที่สถานศึกษาไม่ว่าระดับไหน นักศึกษาอาจารย์ ในระบบหรือนอกระบบควรช่วยเหลือเกษตรกร ให้รู้เท่าทันและใช้สื่อใหม่ให้เป็น ทั้งลูกหลานที่เรียนมหาวิทยาลัย ทั้งคนที่ตกงานจากในเมืองกลับบ้านเกิดในชนบท สามารถนำแอปมาใช้ หรือนำแพลตฟอร์มที่มีอยู่มาต่อยอดประยุกต์ และจัดฝึกอบรมให้พี่น้องชาวบ้านทำการเกษตรเป็น “โซเชียลการเกษตร” หรือที่เรียกกันว่า “ทำให้เป็นดิจิทัล” (digitalization) คือให้เกิดทั้งรูปแบบ-เนื้อหา-กระบวนการ รูปแบบการประกอบการเกษตรที่ใช่วันนี้อยู่ที่การปรับการผลิตให้เป็นอินทรีย์ สื่อสารตรงกับผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง การสร้าง “ตลาด” (marketplace) ที่เหมาะสม ไม่ว่าออฟไลน์หรือออนไลน์ คือตลาดที่นัดหมายมารับสินค้าที่ใดที่หนึ่ง หรือจัดส่งให้ทางไปรษณีย์หรือบริษัทรับส่งของ เกือบ 30 ปีก่อน ดร.ชมชวน บุญระหงษ์และคณะได้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่เชียงใหม่ มีกลุ่มเกษตรกรในสิบกว่าอำเภอที่เข้าร่วม นำสินค้าเกษตรเข้าไปขายในเมืองเชียงใหม่ทุกอาทิตย์ ตามสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานประกอบการและตลาดนัด ทำให้ผู้ซื้อกับผู้ขายได้พบกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ชวนออกไปดูว่า เขาผลิต เขาปลูกเขาเลี้ยงกันอย่างไร วันนี้ “กาดอิ่มบุญ” ขยายตัวมากขึ้น มีเครือข่ายมากกว่าเดิมมาก ดร.ชมชวน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมเกษตรกร เข้าสู่ระบบดิจิทัล เป็นงานที่น่าชื่นชมที่หลายมหาวิทยาลัยก็คงมีความพยายามเช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรส่งเสริมสนับสนุน เรื่องใหญ่อยู่ที่การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย ทำให้ “ตลาดดิจิทัล” ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ขยายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลาดแรกควรเป็นในพื้นที่เอง ที่ผู้บริโภครู้ว่าจะไปรับสินค้าที่ได้สั่งไปก่อนนั้นที่ไหน วันไหน เช่น ทุกวันที่ตกลงนัดหมายกัน หรือถ้าอยู่ไกลไม่สามารถไปรับได้ก็ส่งเป็นพัสดุ ความสำคัญของแพลตฟอร์มอยู่ที่การเชื่อมผู้ผลิตกับผู้บริโภค ให้ “พบกัน” ไม่ว่าออนไลน์ ออฟไลน์ สื่อสารกันได้ เสนอแนะได้ ร่วมมือกันพัฒนาสินค้าได้ หรือแม้แต่ร่วมลงทุนได้ด้วย วันนี้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มจำนวนมากเพื่อส่งเสริมสินค้าการเกษตร เชื่อว่า ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เกษตรกรจะเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยนี้ และขยายผลไปสู่ธุรกิจอื่น อย่างการท่องเที่ยวเกษตร ท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาอาหาร ขนม เครื่องดื่มท้องถิ่น สมุนไพร เรื่องสุขภาพ เชิญชวนผู้บริโภคในเครือข่ายไปเยี่ยมเยือน นี่คือ “โซเชียลการเกษตร” ที่เกษตรกรไม่ต้องง้อห้างใหญ่นายทุนและคนกลางอีกต่อไป ใช้แพลตฟอร์ม เชื่อมเครือข่ายและกับผู้บริโภคโดยตรง ได้เงินทันที ไม่มีหักค่าหิ้งในห้าง ไม่ต้องรอเงิน 45 วันหรือสองเดือน นี่คือโอกาสของคนเล็กๆ ที่เปิดกว้างในสังคมที่เป็นดิจิทัล รูปแบบหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย คือการกระจายอำนาจ กระจายสิทธิ การเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงตลาดของคนทุกคนไม่ว่าเล็กใหญ่เพียงใด เมื่อคนเล็กๆ เกิดได้ เติบโตได้ สังคมไทยก็จะพัฒนา