แทบทุกครั้งที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง มักมีข่าวลือปฏิวัติรัฐประหารคู่ขนานกันมา ด้วยสำหรับประเทศไทยที่เพิ่งผ่านการรัฐประหารครั้งล่าสุดมาเพียง 6 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดเลย ที่จะมีจิตประหวัดถึงวิธีการแก้ไขปัญหาการเมืองนอกระบบ
ประกอบกับบรรยากาศที่ปฏิบัติการสงครามข้อมูลข่าวสารของฝ่ายต่างๆ ที่ขุดเอาเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 และ14 ตุลา 2516 ขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไข ทั้งสุมฟืนใส่ไฟ และสร้างภาพหลอน ก็ยิ่งทำให้มีการพูดถึงโอกาสในการทำรัฐประหารมากขึ้น
แม้พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก จะบอกว่า โอกาสทำรัฐประหารเป็นศูนย์ บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน
นั่นก็ยังไม่ได้สร้างความ “ไว้วางใจ” ว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น
ด้วยหากย้อนบริบทการเมืองไทยกลับไปไม่มีผู้บัญชาการทหารบกคนไหน ที่เข้ามารับตำแหน่งแล้วจ้องทำปฏิวัติรัฐประหาร
แม้แต่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม
กระนั้น หากพิเคราะห์คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ได้ให้ “คำมั่นสัญญา” ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แม้ผู้สื่อข่าวจะถามย้ำแล้วก็ตาม พล.อ.ณรงค์พันธ์เพียงบอกว่า “โอกาสไม่มี” และ “ต้องช่วยกันขจัดเงื่อนไขต่างๆ” เพื่อให้ประเทศฟื้นตัวจากพิษโควิดและทั่วโลกเฝ้ามองอยู่
อีกทั้งยังพูดถึงการชุมนุมทางการเมือง ที่ต้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย
คือ1.ต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิของคนอื่น
2.ต้องมีความรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่ตนเองกระทำ
และเมื่อถามถึง ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์10ข้อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ยกคำสอนของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรังสี ที่สอนเรื่อง “กระจกหกด้าน” ที่อยากให้ทุกคนมองตนเองก่อน และกลับไปดูตนเองว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์และมีความวิริยะ ก่อนที่จะไปบอกให้คนอื่นทำแบบนั้นแบบนี้
เพราะเมื่อพิจารณาท่าทีไม่ว่าจะเป็น น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่จะขยายเพดานการเรียกร้อง ไม่ใช่การแสดงพลังแล้วกลับบ้านอย่างเดียว แต่เป็นการสู้แบบ “ม้วนเดียวจบ”
โดยเฉพาะนายอานนท์ ที่ประกาศว่าในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หากมีการกีดกันในเรื่องดังกล่าวลงเขาก็จะไม่ขึ้นพูดบนเวที
ขณะที่นักการเมืองอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็ออกมาชี้นำว่าจะต้องปฏิรูปสภาบัน
แน่นอนว่า ประเด็นเรื่องสถาบัน ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ล่อแหลม และสุ่มเสี่ยง
การกระทำดังกล่าว จะเข้า “เงื่อนไข” ผิดกฎหมายที่ ผบ.ทบ.ระบุไว้หรือไม่ ทั้งที่มีบทเรียนมากมาย เป็นความท้าทายว่าฝ่ายต่างๆ ได้เรียนรู้มากน้อยแค่ไหน
จึงขอคนไทยร่วมสร้างประวัติศาสตร์วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย