เสือตัวที่ 6 ด้วยอัตลักษณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการสืบทอดประวัติศาสตร์เชิงแบ่งแยกกับรัฐไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากรัฐไทย พยายามสอดแทรก แต่งเติมให้พื้นที่ในชุมชนแต่ละแห่ง มีอัตลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนไป โดยเน้นให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น รูปแบบการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ จึงต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ เป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และมีความแนบเนียนมากเป็นพิเศษ โดยใช้กิจกรรมในการสร้างโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความหวาดระแวงของคนในชุมชน และกิจกรรมดังกล่าวนั้น เป็นกิจกรรมที่พี่น้องทั่วโลกรู้จักและให้การยอมรับกันเป็นอย่างดี นั่นคือ กิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยที่ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 ซึ่งสามารถที่จะเข้าถึงหัวใจคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อันการเข้าถึงหัวใจของคนในพื้นที่นั้น จะเป็นประตูไปสู่โอกาสในการทำความเข้าใจระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ตามบริบทและวิถีชีวิตที่พี่น้องในพื้นที่ต้องการได้อย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบ ที่ต้องคำนึงถึงและนำปัจจัยที่เอื้ออำนวยในการเข้าถึงประชาชนผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก มาใช้ในการดำเนินการเป็นสำคัญ โดยมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีขั้นตอนสำคัญที่ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 ได้แก่ การขยายผลสู่ชุมชนและผลักดันกิจกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขยายผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐมรการนำร่อง เพื่อให้เกิดเป็นตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน และการรวมกลุ่มกิจกรรมที่มีความเห็นพ้องต้องกัน ตามความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของชุมชนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ตามความต้องการร่วมกันของกลุ่มกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ตกลงร่วมกันในการทำกิจกรรมอาชีพตามความต้องการของกลุ่ม เพื่อให้เกิดพลังในการดำเนินไปของกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงที่มากพอต่อความยั่งยืน รวมทั้งการให้ความรู้ การฝึกอบรมกิจกรรมอาชีพนั้นๆ เพื่อให้ผลผลิตตามกลุ่มอาชีพ มีคุณภาพ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้น ตลอดจนการชี้แนะ ผลักดันให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆ มีการริหารจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการตลาดที่จะช่วยให้ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค หรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายโดยตรง มีตลาดรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชน ท้องถิ่น มาร่วมกันให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างประสานสอดคล้อง และตอบสนองความต้องการของกลุ่มกิจกรรมได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น จำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ จะต้องสร้างความเป็นเจ้าของกิจกรรมของชุมชน ขั้นตอนนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอด การดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ให้กลุ่มคนในชุมชน สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นกลุ่มอาชีพ ได้ด้วยตนเองด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกในกลุ่มกิจกรรม มีส่วนในความรับผิดชอบให้กลุ่มดำเนินงานต่อไปได้ โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายที่สมาชิกในกลุ่ม ต้องปฏิบัติในฐานะสมาชิกของกิจกรรมคนหนึ่ง เมื่อสมาชิกในชุมชนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจกรรมอาชีพนั้นๆ กิจกรรมก็จะมีพลังในการขับเคลื่อนด้วยคนในกลุ่มกิจกรรม และขยายเป็นกิจกรรมของคนคนในชุมชนทั้งหมด ก็จะยิ่งมีพลังให้การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง มีความเข้มแข็งและทรงพลังมากยิ่งขึ้น ซึ่งการสร้างความเป็นเจ้าของกิจกรรมของชุมชนนี้ นอกจากจะเป็นการแสวงหาช่องทางในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างแนบแน่นแล้ว ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับคนในชุมชน เพราะการเกื้อหนุนจุนเจือระหว่างกัน จะส่งผลต่อทัศนคติต่อผู้รับสาร เป็นการเติมเต็มช่องว่างระหว่างความคิดของกันและกัน อันเป็นการเข้าถึงจิตใจ และรับรู้ความรู้สึกนึกคิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐและคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการดำรงอยู่ของกิจกรรมในชุมชนที่เข้มแข็งในโลกยุคใหม่ จะต้องมีสายสัมพันธ์ที่ร้อยรัด ทักทอการดำเนินการทั้งภายในและภายนอกชุมชนอย่างกระชับแน่น ซึ่งจะเป็นการเสริมจุดแข็งและชดเชยจุดอ่อนของชุมชนได้เป็นอย่างดี การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จึงยังคงต้องการการพึ่งพิงความเข้มแข็งของชุมชนที่รายล้อมอยู่ภายนอก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโอกาสที่ชุมชนหนึ่งชุมชนใด จะมีทรัพยากรตลอดจนความต้องการของคนในชุมชนอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ โดยมิต้องพึ่งพาทรัพยากรหรือขีดความสามารถจากภายนอกชุมชนนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งในโอกาสนี้ หน่วยงานภาครัฐจึงต้องสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเหนียวแน่น ในเชิงปฏิสัมพันธ์แบบสองทางที่อุดหนุนจุนเจือเกื้อกูลระหว่างกัน การสร้างเครือข่ายที่คงความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนนั้น จะเป็นช่องทางในการหลบ่อเลี้ยงความเข้าอกเข้าใจระหว่างกัน อันจะนำมาซึ่งการเข้าถึงประชาชนของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้ รูปแบบการเข้าถึงประชาชนผ่านการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในที่พิเศษ ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุนแรง อันเกิดจากกลุ่มคนที่ดำเนินการสร้างความแตกแยกมาอย่างยาวนานและกระทำอย่างเป็นขบวนการนั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจข้อมูลพื้นฐาน ตลอดจนสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ที่มีความผันแปรไปตลอดห้วงเวลา หน่วยงานภาครัฐ จึงต้องปรับฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นประตูบุกเบิกไปสู่การเข้าถึงหัวใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่สอดรับกับความต้องการในแต่ละชุมชนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในห้วงเวลานั้น ให้สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีตามวิถีท้องถิ่น ยังความเข้าใจอันดีระหว่างคนไทยทุกภาคส่วนของแผ่นดินให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน