สิ้นสุดการรอคอย เมื่อมีความชัดเจนสำหรับปฏิทินการเมืองเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีมติให้เลือกตั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัดภายในระยะเวลา 60 วันซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยกล่าวว่าจะมีขึ้นราวปลายปี
โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันอีกครั้งว่า เรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีเหตุผลและความจำเป็นทั้งเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเรื่องงบประมาณต่างๆที่ได้เตรียมการไว้ในระดับหนึ่ง
ด้านการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. กล่าวว่า ได้มีการออกประกาศ และระเบียบ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้มีการแบ่งเขตเอาไว้เรียบร้อยแล้ว หากให้มีการจัดการเลือกตั้ง อบจ.เป็นประเภทแรก จะต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประมาณ 1 ล้านคน เพื่อรองรับสำหรับหน่วยเลือกตั้งที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งทาง กกต. กับกรมควบคุมโรคได้หารือกันในรายละเอียดอยู่ตลอด ทั้งนี้ ตามขั้นตอนโดยปกติหลังจาก ครม.กำหนดว่าจะให้เลือกตั้งประเภทใดแล้ว กกต.จะต้องไปประกาศวันเลือกตั้ง ภายในระยะเวลา 45 ถึง 60 วัน คล้ายกับการเลือกตั้งส.ส. เพราะเมื่อประกาศแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นในระดับนั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไท ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ถือเป็นโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ กลับมามีผู้นำท้องถิ่นตามระบบการเลือกตั้งตามระบบการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากได้ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานาน ประมาณ 7-8 ปี ส่วนตัวขอสนับสนุนและขอเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีมีมติในการกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นโรดแมปการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อใดอย่างไรบ้าง เพื่อประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตามปี 2563 เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือน หากจะให้มีการจัดการการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท คงไม่ทันตามกรอบเวลา ดังนั้นรัฐบาลควรกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญมาก่อนตามลำดับ เช่น การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วในปี 2564 อาจจะเป็นการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
“ถ้ารัฐบาลทำโรดแมปการเลือกตั้ง คือกำหนดระยะเวลาเป็นไพรม์ไทม์ (Prime time) กำหนดแต่ละเดือนๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เตรียมการ โดยเฉพาะผู้ที่จะสมัครเป็น ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นในรูปแบบของ อบจ. อบต. และเทศบาล จะทำให้เกิดความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมต่างๆ ทั้งกระแสเศรษฐกิจและกระแสของประชาธิปไตย”
กระนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจประเดิมด้วย ศึกเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นอันดับแรก จึงเกิด
ผลข้างเคียงต่อ สถานการณ์ 14 ตุลาอย่างมีนัยสำคัญ จากกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ตอบโต้อีเวนต์การเมืองของฝ่ายตรงข้าม ของทั้งคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกลนั้น อยู่ในเมืองหลวง เคลื่อนไหวสัมพันธ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมปลดแอกเป็นหลัก
ฉะนั้น การประกาศไทม์ไลน์การเลือกตั้ง อบจ.ภายใน 60 วัน จึงเปลี่ยนกระดานการเมือง ไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น ดึงการเมืองบนท้องถนนให้กลับเข้ามาสู้กันในเกมการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยมีพรรคเพื่อไทย ที่ปรับโครงสร้าง และกลยุทธ์ทางการเมืองใหม่ เป็นตัวแปรที่น่าจับตา