เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
มีคำโหญ่หรือคำโต (jargon) ถูกนำมาใช้ในระยะหลังๆ นี้บ่อย เช่น “โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา” ซึ่งก็ใช้มาหลายปีแล้วโดยเฉพาะจาก “สภาพัฒน์ฯ” แต่ไม่แพร่หลาย เป็นคำที่ดีถ้ามีการอธิบายให้เข้าใจง่ายพร้อมแนวทางการทำให้โครงสร้างนี้เกิดและแข็งแรง
ถ้าจะบอกว่า ปัญหาหนี้สินของประชาชน ปัญหาความรุนแรง ปัญหาการโกงกินหรือคอร์รัปชั่นในแทบทุกวงการล้วนมาจากรากฐานที่อ่อนแอของสังคมก็คงไม่ผิด เพราะเป็นสังคมที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่ไม่แข็งแรง รับน้ำหนักแรงกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ เหมือนถนนที่ทำไม่ได้มาตรฐาน เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรไปมา
คุณหมอประเวศ วะสีบอกว่า “สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา มีความรู้น้อย ใช้ระบบอำนาจเป็นใหญ่เนื่องจากขาดความรู้ เช่น ระบบราชการ คือ ตัวแทนขององค์กรเชิงอำนาจ มีแต่เน้นกฎหมาย ระเบียบ การสั่งการและการควบคุม ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาที่ซับซ้อนและยากต่อการแก้ไขมากขึ้น”
ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต ปราชญ์ชาวบ้านชาวศรีประจัน สุพรรณบุรีบอกว่า “ตั้งแต่ปฏิวัติเขียวมาห้าสิบปี ชาวนาเราทำนาด้วยข้อมูลจากถุงปุ๋ย ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ไม่รู้ ความรู้สมัยใหม่ก็ไม่รู้ ใบข้าวใบแรกๆ ที่เป็นสีเหลือง คนโบราณบอกว่าให้เอาไปถวายวัดก็ไม่เข้าใจ รีบไปเอายูเรียมาใส่”
ลุงประยงค์ รณรงค์ รางวัลแมกไซไซ ปราชญ์ชาวบ้านจากนครศรีธรรมราชพูดกับเกษตรกรบ่อยๆ ว่า “พี่น้อง การที่พวกเราทำอะไรมักผิดพลาดล้มเหลว เป็นเพราะเราทำโดยไม่รู้จริง” ที่ตำบลไม้เรียง ผู้นำชุมชนช่วยกันทำยุทธศาสตร์ที่เริ่มต้นด้วย “ยุทธศาสตร์การเรียนรู้”
ตามด้วยยุทธศาสตร์การพึ่งตนเอง ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากร ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพและพัฒนาจิตใจ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรชุมชน ลุงประยงค์บอกว่า ถ้าไม่มีข้อแรก คือ ไม่มีการเรียนรู้ก็ทำอะไรไม่เป็น รอแต่คำสั่งกับงบประมาณ
การเรียนรู้แบบลุงทองเหมาะหรือแบบลุงประยงค์มีสองลักษณะ เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาแบบสืบสานประยุกต์ให้สมสมัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ทำให้เกิดรากฐานที่ผสานเก่าใหม่ได้อย่างลงตัว ได้โครงสร้างรากฐานที่แข็งแรง
ลุงทองเหมาะไปอบรมเรื่องอีเอ็มที่ญี่ปุ่น กลับมาก็ได้ความคิดว่า บ้านเรามีจุลินทรีย์มากกว่าอีเอ็มอีก เลยไปเอาดินจากป่าลึกและโคลนจากใต้น้ำตกมาทำให้เกิดจุลินทรีย์ที่นับได้มากกว่าอีเอ็ม และตั้งชื่อให้ว่า “ทีเอ็ม” แปลว่า “ทองเหมาะ”
ลุงประยงค์และทีมผู้นำของไม้เรียงได้เรียนรู้หาวิธีแก้ปัญหาราคายาง เริ่มระดมทุนในชุมชนสร้างโรงงานแปรรูปยางขนาดเล็กในชุมชนด้วยตนเองตั้งแต่ปี 2527 ทำเรื่องเครือข่าย เรื่องวิสาหกิจชุมชน แผนแม่บทชุมชน และวิสาหกิจชุมชน แนวคิดสำคัญๆ ล้วนมาจากไม้เรียง จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยของรัฐ 6 แห่งมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ให้ท่าน
ปราชญ์ชาวบ้านทั้งสองเป็นแบบอย่างของผู้ที่พัฒนาทุนท้องถิ่นได้อย่างรอบด้านบูรณาการ ทั้งทุนทรัพยากร ทุนทางสังคม และทุนทางปัญญาสามารถเชื่อมอดีตกับปัจจุบันเพื่อสร้างสรรค์อนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการโอทอปและอีกหลายโครงการมักจะเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุนอื่นๆ ในชุมชนที่ควรสืบทอดไปพร้อมกัน ซึ่งทำได้ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะรีบทำโครงการโอทอปให้ได้หลายดาว เพื่อจะได้เป็นตัวแทนของจังหวัด ไปขายงานใหญ่ๆ
รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของชุมชนเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาต้องสร้างที่ชุมชน และไม่เน้นแต่เพียงเรื่องการผลิต รายได้ แต่ที่การพัฒนารอบด้านแบบบูรณาการ อย่างที่ไม้เรียงและอีกหลายชุมชนทั่วประเทศทำกัน
การศึกษาไม่ได้อยู่แต่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งมีงานวิจัยว่า สถานศึกษามีอิทธิพลต่อเด็กไม่เกินร้อยละ 15 ส่วนใหญ่อยู่ที่ครอบครัวและสังคม แต่รัฐก็ทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินไปกว่าร้อยละ 25 ให้กระทรวงศึกษาธิการ
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคณะทำงานไทยแลนด์ 4.0 ว่า ถ้าไม่ปฏิรูปกฎหมายและระบบราชการ ประเทศไทยไปไม่ถึงไหนแน่นอน แห่งแรกที่ต้องปฏิรูป คือ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่ได้ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่แข็งแรง และกฎระเบียบมากมายหลายอย่างก็เป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ
มีแต่การสอน ไม่มีการเรียน มีแต่สถานศึกษา แต่ไม่มีความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างปัญญา แล้วยังจะรักษากลไกพิการแบบนี้ต่อไปโดยไม่ปฏิรูปถึงรากถึงโคนได้อย่างไร