สมบัติ ภู่กาญจน์ การทำงานอย่างหนัก โดยรู้จักคนไทย และสร้างผลงานให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ นั่นคือวิธีทำงาน ที่คนไทยในอดีตชื่อม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มลงมือทำอย่างหนัก และทำต่อเนื่องตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี รัฐบาลที่ใช้อำนาจมายาวนาน จนลืมที่จะรับฟังเสียงคนอื่น - ซึ่งคึกฤทธิ์ ปราโมชไม่เห็นด้วยและพยายามที่จะติติงตั้งแต่ต้นแต่ไม่เป็นผลจนต้องต่อต้านคัดค้านในตอนปลาย – จึงได้พ้นไปจากอำนาจ โดยถูกทหารด้วยกันปฏิวัติ และผู้นำรัฐบาลต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ จนถึงแก่กรรมที่ต่างประเทศ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะใช้ลมหายใจเฮือกสุดท้ายในประเทศไทย โมเดลนี้ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ ควรจะต้องรู้จักรับฟังเสียงของคนอื่นบ้าง และคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือต่อต้านคัดค้านให้ได้ผล ก็ควรจะต้องทำงานอย่างต่อเนื่องและหนัก -โดยทำอย่างรู้จักคนไทยด้วย ว่าเป็นคนอย่างไร รักชอบหรือมีส่วนดีส่วนด้อยที่ตรงไหน -และเมื่อรู้แล้ว ก็ต้องสร้างผลงานให้คนส่วนใหญ่ เขายอมรับ -จากนั้น แม้จะพร้อมในปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี้แล้ว ก็ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลา ทั้งรัฐบาล ทั้งประชาชน และทั้งคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านสิ่งใดให้ได้ผล ก็จะต้องคำนึงถึงด้วย ว่า ณ ขณะที่เราตัดสินใจทำสิ่งเหล่านี้ ‘เรา’ได้ใช้/หรือได้ให้ เวลา ไปแล้วมากน้อยเพียงใด ‘คนทำสื่อ ชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช’ สร้างการเรียนรู้เหล่านี้ ให้กับคนที่อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มาตั้งแต่กลางปี 2493 - สองปีหลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงครามเริ่มเข้าสู่อำนาจในการบริหารประเทศยุคที่สอง และอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2500 - ด้วยการผลิตผลงานที่เป็นงานเขียนทุกประเภท ซึ่ง คอลัมน์ตอบปัญหาประจำวัน เป็นงานเขียนอีกประเภทหนึ่ง ที่อาจารย์คึกฤทธิ์ เริ่มใช้ในการ ‘สื่อสารสองทาง’ มาตั้งแต่ขณะที่วิชาการด้านสื่อสารมวลชนยังไม่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยใดๆในประเทศ นับเป็นผลงานที่น่าสนใจอีกหนึ่งชิ้น ที่ ‘คนทำสื่อ ชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช’ได้สร้างการเรียนรู้ให้สังคม ได้เกิดการรู้จัก ความเข้าใจ และการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิด ระหว่าง ผู้ส่งสาร กับ ผู้รับสาร ให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายของการสื่อสารมวลชนในสังคมไทย มีตัวอย่างของผลงานดังกล่าว ปรากฏแจ้งชัดอยู่ในคำถาม คำตอบชิ้นหนึ่ง ที่ผู้อ่านท่านหนึ่งซึ่งใช้นามว่า นคร พนมพันธุ์ เขียนปัญหาหลายข้อมาถามคึกฤทธิ์ และมีคำถามข้อหนึ่งถามว่า 5. ปัญหาที่คนเขาถามมา ที่หม่อมตอบไม่ได้มีไหม? ถ้ามี เกี่ยวกับเรื่องอะไรที่หม่อมตอบไม่ได้ หรือตอบได้ยากที่สุด และที่เขาถามมา หม่อมตอบทุกฉบับ หรือว่า เลือกตอบเท่าที่จะตอบได้ และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์เท่านั้น หรือมีเหตุผลอื่นว่าไร? ต่อไปนี้คือ คำตอบจากคึกฤทธิ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในคอลัมน์ปัญหาประจำวัน (สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ 6 กันยายน 2494) ซึ่งผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาในคำตอบ ดังนี้ 5. เรื่องตอบปัญหานี้ ขอขอบคุณที่ถามมา เพราะผมเองก็อยากอธิบายให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบด้วยเหมือนกันว่า วันหนึ่งๆ มีผู้เขียนปัญหามาถึงผมไม่น้อยกว่า 20-30 ฉบับ ซึ่งหมายความว่า ผมจะตอบให้หมดทุกฉบับ คงไม่ได้แน่ๆ เพราะเนื้อที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่อำนวยให้ เพราะฉะนั้น ปัญหาต่างๆจึงจำเป็นต้องเลือกตอบ และในการเลือก ผมก็ต้องมีหลักเกณฑ์ของผม ซึ่งมีดังนี้ ก. สาระแห่งปัญหา ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผมจะเลือกตอบปัญหาที่เห็นว่ามีผู้สนใจแพร่หลาย โดยสังเกตเอาจากการที่มีผู้ถามปัญหาเดียวกันมาหลายคน เช่น ปัญหาทั่วไปที่เกี่ยวกับศาสนา การเมือง หรือเศรษฐกิจ หรือมิฉะนั้นก็เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ทันต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จากนั้น ก็ต้องคอยเฉลี่ย ให้เป็นปัญหาที่มีสาระมากเข้าไว้ แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาที่น้อยในสาระ ก็ต้องตอบไว้บ้าง ไม่ทิ้งเปล่า เพราะเห็นใจที่ท่านอุตส่าห์ถามมา ข. ปัญหาที่ผมไม่ตอบนั้น อาจเป็นปัญหาที่ผมเคยตอบมาแล้ว หรือเป็นปัญหาเทคนิคโดยแท้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ที่ถามเพียงคนเดียว ซึ่งตอบไปก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น อย่างไรก็ตาม ผมพยายามตอบปัญหา ซึ่งคนอย่างผมอยู่ในฐานะที่จะตอบได้ คือหมายความถึงปัญหาที่คนมีความรู้ทั่วไปก็ควรจะตอบได้ ส่วนปัญหาทางด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า วิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือส่งภาษาบาลีมาให้ผมแปลทั้งหน้า นั้น จริงอยู่ ผมอาจไปค้นคว้า หรือไหว้วานคนที่เขามีความรู้โดยเฉพาะ หรือไปหาความรู้จากเขามาตอบให้ก็ได้ แต่เมื่อตอบไปแล้ว ก็อาจจะดูผิดวิสัย เพราะคนที่มีความรู้ เห็นคำตอบเข้าก็จะรู้ว่าผมไม่ได้ตอบเอง หรือถ้าไม่นึกอย่างนั้น ก็อาจจะเห็นว่า ผมเป็นผู้ตรัสรู้ไปหมดเสียทุกอย่าง ซึ่งก็ไม่ตรงต่อความจริงอีกเหมือนกัน ความประสงค์ในการตอบปัญหานั้น ผมอยากให้เหมือนกับ เป็นการคุยโต้ตอบกันอย่างมิตรสหาย ที่เป็นคนธรรมดาสามัญคุยกันให้มากที่สุด มิได้มุ่งหมายว่า จะยกตนให้เป็นผู้นำทางความคิด หรือเป็นปราชญ์ หรือเป็นอาจารย์ของคนทั้งเมือง เพราะศีรษะของผมนั้น ถึงแม้ในบางกรณีจะโตไปบ้าง ก็ยังไม่ได้โตถึงเพียงนั้นตลอดไป การตอบปัญหาต่างๆนั้นเคยผิดไปแล้วก็มี และถ้ามีผู้ทักท้วงตักเตือนมาในเวลาอันสมควร ผมก็ยอมรับผิด และลงแก้ให้เสมอ ไม่เคยถือว่าคำตอบทุกวันนั้นเป็นคำตอบที่ถูกต้องเด็ดขาด และปัญหาที่ส่งกันมาวันละหลายสิบฉบับนั้น ที่ตอบไม่ได้ก็มีอยู่มากเหมือนกัน บางฉบับนั้น อย่าว่าแต่จะตอบเลย เพียงพิมพ์ปัญหาออกไปในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเสียแล้ว บางปัญหาก็ตอบไม่ได้ เพราะต้องรักษามารยาท คุณต้องไม่ลืมว่า ผู้ถามปัญหานั้น เขียนคำถามด้วยตนเองอยู่คนเดียวแล้วก็ใส่ซองส่งมาโรงพิมพ์ จะลงชื่อหรือลงนามแฝงไว้ท้ายปัญหาหรือไม่ก็ได้ ไม่มีใครห้าม แต่เวลาผมตอบ ผมต้องตอบลงในหน้าหนังสือพิมพ์ มีคนอ่านกันทั้งเมือง และต้องลงชื่อจริงของผม การทำงานอย่างนี้ ทุกอย่างก่อนที่จะทำ จึงต้องคิดให้ดีๆ............ คำตอบนี้ยังไม่จบ ผู้สนใจต้องขอเชิญให้ติดตามต่อไปสัปดาห์หน้า แต่ก่อนปิดท้ายนี้ ผมอยากฝากข้อคิดว่า ความเห็นอย่างคนธรรมดาสามัญ ที่จริงใจจะคุยกันอย่างนี้ ค่อนข้างจะหาได้ยากใน‘สื่อ’ทุกวันนี้แล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสื่ออันเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ผู้รู้ในเมืองไทย ก็ยังไม่มีใครคอยให้สอนให้ผู้รับสื่อ ‘ รู้เท่าทันในการเสพ-การใช้’ สื่อร่วมสมัยนี้ มากนัก จะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ แต่นี่คือสิ่งที่น่าพิจารณา ทุกวันนี้ ‘อารมณ์’ จึงนำหน้า ‘เหตุผล’ อยู่ในเรื่องทุกเรื่อง จนผมคิดถึงอาจารย์ของผมจริงๆครับ