สถาพร ศรีสัจจัง
คนที่เรียนหนังสือหนังหาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยในช่วง 3-4 ทศวรรษที่พ้นผ่าน โดยเฉพาะพวกที่เรียนทางสายสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์-โบราณคดี สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมสาขาต่างๆ จิตวิทยา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ ย่อมตระหนัก และรู้ดีว่า หลังผ่านกระแสแนวคิดหลักแบบ “สมัยใหม่”(Modernism) ที่เริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว แนวคิดที่คัดง้าง (againt) แนวคิดแบบ “สมัยใหม่นิยม” ที่หนักหน่วงรุนแรงและทรงอิทธิพลอยู่จนถึงปัจจุบันก็คือแนวคิดที่นักวิชาการ(Academician) เรียกว่า “แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่นิยม”(Postmodernism)
เนื่องจากคำๆนี้แพร่หลายมากแล้ว หรือใครที่ไม่รู้ก็สามารถจะ “คลิก” เข้าไปหาความรู้จาก “ระบบดิจิตอล” ของ “อินเตอร์เน็ต” ได้แบบง่ายๆ และอย่างรวดเร็ว จึงจะไม่ขอ “เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน” อีกคือจะไม่ธิบายในเรื่องความหมายของคำ “แนวคิดหลังสมัยใหม่” หรือ “Postmodernism” คำนี้อีก
แต่จะขอนำข้อสรุปแบบง่ายๆที่ได้จากแนวคิดของนายมิเชล ฟูโกต์ ปัญญาชนนักคิดชาวฝรั่งเศสคนสำคัญที่ฟังว่าสังกัดสกุล “โพสต์โมเดิร์น” และ มีผลงานทางวิชาการระบือลือลั่นโลกจนบรรดา “ปัญญาชนนักคิดไทยรุ่นใหม่” ชั้นนำล้วนสมาทานความคิดของเขาผู้นี้มาศึกษา มายึดกุมเป็น “วิธีวิทยา” (Methodology) กันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่พ้นผ่าน มาอ้างอิงสักหน่อย
ข้อสรุปที่ว่านั้นก็คือข้อสรุปที่ว่า “มนุษย์เป็นเพียงผลผลิตของวาทกรรม(discourse)”!
แต่ในที่นี้ขอเปลี่ยนเป็นว่า “ประชาธิปไตย/ศักดินา/เผด็จการ เป็นเพียงผลผลิตของวาทกรรม(discourse)”!
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อจะพยายามหาทาง “วิเคราะห์/สังเคราะห์” ให้พอเห็น พอเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกสักนิดว่า “วาทกรรม” ที่กระหึ่มก้องดังอยู่ในโลกโซเชียล และในหมู่ยุวชนคนไทยที่ประกาศว่ามีแนวคิด การกระทำที่เด็ดเดี่ยวชัดเจนแล้วว่า ต้องการ “ปลดแอก”ตัวเองและสังคมไทยจากการกดขี่ของอำนาจที่พวกเขาเรียกว่า “ศักดินา” และ “เผด็จการ” ด้วยประโยคที่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ให้จบที่รุ่นเรา!” นั้นคืออย่างไร? และจะสามารถเป็นไปได้ดัง “เจตนารมณ์” ดังว่าของพวกเขาได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?
ถ้าจะอธิบายถึงคำ “ปลดแอก” ที่ทั้งขบวนการของผู้ใหญ่และขบวนการของเยาวชนใช้เรียก “ขบวน” ของพวกตนอยู่ในบัดนี้นั้น คำ “แอก” คำนี้น่าจะมีความหมายเดียวกับคำที่รัฐบาลไทยในอดีต(โดยเฉพาะในยุคผู้นำรัฐที่ชื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์/ยุค “ถนอม-ประภาส-ณรงค์”/ และยุค “รัฐบาลหอย” ธานินทร์ ไกรวิเชียร) ใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยการสร้าง “วาทกรรม” ผ่าน “ช่องสาร” ที่ทรงอำนาจหลายทาง (จนซึมซ่านเข้าไปอยู่ในความรู้สึกของประชาชนขณะนั้นเหมือนความรู้สึกหลังได้ดูภาพยนตร์สยองขวัญ)
โดยการโฆษณาและสร้างภาพให้เห็นว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะคอมมิวนิสต์จีน) นั้นจับคนไปสวมแอกไถนาเหมือนวัวควาย พร้อมวาดภาพประกอบและมีวาทกรรมปลุกใจกำกับอย่างแข็งขัน
คนส่วนหนึ่งคล้อยตามหลงเชื่อเพราะพลังวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นนั้น แต่ท้ายที่สุดความจริง(ข้อเท็จจริง)ก็ได้รับการเปิดเผยว่า “วาทกรรม” เหล่านั้นเป็นเพียงคำโฆษณาเท็จ(คล้ายกับข่าวปลอมหรือ fake news ในปัจจุบัน?)
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่น่าแปลกใจก็คือ กลุ่มคนที่รู้ๆกันอยู่ว่าเป็น “ลูกพี่” ผู้วางแผน เป็นท่อน้ำเลี้ยง และ เป็นผู้ผลักดันทุกเรื่องอยู่เบื้องหลังขบวนการ “ปลดแอก” เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เคยสำแดงตนเป็น “ปัญญาชนนักคิด” รุ่นใหม่ชั้นนำของประเทศ ที่ประกาศชัดเจนว่าสมาทานความคิดแบบ “โพสต์โมเดิร์น” ของฝรั่งมังค่าอย่างเป็น “สาวก” ตัวจริงกันแทบทุกคน แล้วทำไมพอมาถึงเรื่องนี้จึงเชื่อปักใจแบบหน้ามืดตามัวในคำ “ประชาธิปไตย” / “ศักดินา” “เผด็จการ” (แบบฝรั่งตะวันตก) เอาง่ายๆกันแบบนี้?
จนถึงกับ “พิพากษา” ด่าว่าคนอื่นแบบหยาบคายถ่อยสถุนว่าเป็นโน่นเป็นนี้ไปต่างๆนานา จนเหมือนคนขาดสติ ขาดหลักการมองแบบ “พหุวิธี” (multiple methodologies) เพื่อให้เกิดการมองปัญหาด้วยทัศนภาพที่หลากหลาย (multiple perspectives) อันจะก่อเกิดการเห็นภาพของ “สิ่ง” นั้นๆแบบองค์รวม (ซึ่งเป็นวิธีวิทยาที่สำคัญที่สุดของชาว “โพสต์โมเดิร์น”)
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ด้วยวิธีคิด การให้ค่า และ “ความเชื่อ” แบบดิ่งเดี่ยวว่า...อย่างนั้นเป็น “ประชาธิปไตย” (ตามที่เรียนมาจากระบบฝรั่งตะวันตก)/ อย่างนั้นเป็น “ศักดินา” (ตามคำอธิบายจากตำราฝรั่ง)หรือ “เผด็จการ” (ตามที่นักวิชาการฝรั่งอธิบายอีกนั่นแหละ)โดยไม่พิจารณาบริบท(Context)ทางประวัติศาสตร์(ดูเหมือนคาร์ล มาร์กซ์ จะเรียกว่า “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์”) และโดยความเป็นเช่นนี้เอง ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการก่อวิธีคิดแบบ “สังคมอุดมคติ” ขึ้น ซึ่งชาว “หลังสมัยใหม่” หรือ “โพสต์โมเดิร์น” เชื่อว่า สิ่งนี้แหละคือที่มาแห่งความขัดแย้งที่จะก่อเกิดการทำลายล้างด้วยความ “รุนแรง” ที่เรียกกันว่า “สงคราม” !
...ซึ่งโดยวิถีเช่นนี้แหละ ที่ทำให้โลก(รวมถึงสังคมไทย)ต้องสูญเสียชีวิตผู้คน(ส่วนใหญ่เป็นคนดีมีคุณค่า)ไปเป็นจำนวนมาก ครั้งแล้วครั้งเล่า...!!
และวาทกรรม “ให้จบในรุ่นเรา” ! อะไรนั่นอีกละ ไม่คิดแบบกลไกไสยศาสตร์ไปหน่อยหรือ? มีการเคลื่อนเปลี่ยนเชิงคุณภาพอะไรบ้างละที่จะเปลี่ยนไปตามเจตนารมณ์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความขัดแย้งทางเนื้อหาภายในของสังคมที่ดำรงอยู่จริงต่างหากที่จะชี้ขาดว่า สิ่งนั้นจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน หรือจะเปลี่ยนไปอย่างไรเช่นใด!
แล้วที่ว่า “จบ” นะ ลองชี้บอกมาให้ดูสักเรื่องซิ! ว่าในจักรวาลหรือในโลกมนุษย์แห่งนี้มี “สิ่ง” หรือเรื่องอะไรบ้างที่ “จบ” ลงแล้วอย่างสัมบูรณ์ โดยไม่มีการ “เคลื่อนเปลี่ยน” ใดๆอีกเลย!!!