อาจไม่น่าแปลกใจที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 2 ปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นไปที่ 83.8% ต่อจีดีพี นับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี และสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ในระดับที่ 80.1 % ต่อจีดีพี เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2 /2563
ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ” ในงานสัมมนา “ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต หนี้” ตอนหนึ่งระบุว่า สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิด โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 80% ของจีดีพี ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นหนี้ระยะยาวถึง 34% เช่น สินเชื่อบ้าน รองลงมาเป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภค 27% โดยในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อส่วนบุคคลนี้ภาครัฐจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาในอนาคต นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนเป็นหนี้เร็วขึ้น ดังนั้นจะต้องหาแนวทางว่าทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้หากจะสร้างหนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การลงทุนหรือรายได้ที่มากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดีหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตั้งแต่กลางปี 62 จากผลของมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ ธปท.ออกมา ก็มีส่วนช่วยทำให้หนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงด้วย
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์มองว่าทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนภาพ 2 ด้านซึ่งแตกต่างกัน เพราะในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่ประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
และแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง จะช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนยังน่าเป็นห่วง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจไทย จะค่อยๆทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์ของกิจกรรมเศรษฐกิจที่สูงขึ้น หากไม่มีการระบาดรอบ 2 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564
ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะออกมาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน